Pages

Thursday, October 14, 2010

Nielsen ชี้ไทยช็อปติดอันดับ6ในเอเชีย Hypermarket ครองใจ-โปรโมชั่นมีอิทธิพลสูง

"นีลเส็น" เผยผลวิจัย "ชอปเปอร์ เทรนด์" ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกชี้ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคไตรมาสที่ 2 ปีนี้โตขึ้น 12% ไทยโตติดอันดับ 6 เผยช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตยังเป็นช่องทางซื้อหลักของคนไทย การตลาดในรูปแบบโปรโมชั่นยังมีอิทธิพลกับผู้บริโภคในทุกประเทศผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าคุ้มราคา ดันสินค้ากลุ่ม Private Labels โต



รายงานข่าวจากบริษัท นีลเส็น จำกัด บริษัทให้บริการเกี่ยวกับข้อมูลทางการตลาดและข้อมูลทางสื่อ เปิดเผยถึงผลการวิจัยนีลเส็นชอปเปอร์เทรนด์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พบว่า ยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 โตขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยการเติบโตนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยประเทศที่กำลังพัฒนา 6 ประกาศ จากทั้งหมด 13 ประเทศ โดยเวียดนามเป็นผู้นำด้วยอัตราการเติบโตที่สูงถึง 16% รองลงมาคือ อินเดีย 14.4% ฟิลิปปินส์ 14.2% จีน 11.9% อินโดนีเซีย 9.9% และไทย 7.8% โดยช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงเป็นช่องทางการซื้อหลักของผู้บริโภคในประเทศไทย แม้ว่าระดับการใช้จะลดลงเล็กน้อย




จากรายงานดังกล่าวยังเผยให้เห็นการเติบโตด้านการใช้บริการที่ซูเปอร์มาร์เก็ตหรือตลาดขนาดเล็กที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นร้านที่ตอบสนองด้านความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และลดค่าการเดินทางได้อีกด้วย

"ผู้บริโภคเลือกใช้บริการร้านสะดวกซื้อถี่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ค้าปลีกลงทุนในร้านขนาดเล็กต่อเนื่อง ไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำต่าง ๆ ก็ขยายสาขาไปยังพื้นที่ชุมชนและจับกลุ่มที่มการจับจ่ายที่ต่างกัน"

ผู้บริโภคทั้งภูมิภาคตอบสนองเศรษฐกิจขาลงในปี 2552 ด้วยการคำนึงถึงความคุ้มค่ามากขึ้นพฤติกรรมการซื้อดังกล่าวยังถูกกระตุ้นจากกิจกรรมการส่งเสริมการขายของกลุ่มผู้ค้าปลีก

ทั้งนี้ พบว่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนั้น ผู้บริโภคในเวียดนาม มาเลเซีย จีน และอินเดียซื้อสินค้าเพราะโปรโมชั่นสูงที่สุด โดยประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 6 โดยสัดส่วนของผู้ที่ซื้อเพราะโปรโมชั่นมีสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2552 โดยเฉพาะ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 13% และอินเดีย เพิ่มขึ้น 10% สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ ผู้บริโภคสนใจเรื่องโปรโมชั่นอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว พบว่ามีสัดส่วนถึง 60% ที่บอกว่า โปรโมชั่นมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้า

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า จากการที่ผู้บริโภคคำนึงถึงความคุ้มค่าในการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2552 ส่วนแบ่งของยอดการขายสินค้าตราห้าง (Private Labels) ในเกือบทุกประเทศเพิ่มขึ้น ในประเทศไทยสินค้าตราห้างโตขึ้น 33% ในปี 2551 และ 18% ในปี 2552 และเนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลงในปี 2553 สินค้าตราห้างจึงมีการเติบโตลดลง 1%

"นับเป็นโอกาสที่สำคัญของกลุ่มผู้ค้าปลีกที่จะนำเสนอสินค้าให้แก่ผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องความคุ้มค่า และยังเป็นโอกาสที่ดีจะสร้างความแตกต่างให้ตัวเองโดยการลงทุนกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าตราห้าง ทั้งนี้ การรักษาคุณภาพสินค้าให้ดีอย่างต่อเนื่องและโปรโมตสินค้าอย่างกระตือรือร้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากผู้บริโภคในเอเชียเป็นกลุ่มที่จงรักภักดีต่อแบรนด์"




No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails