Pages

Sunday, September 4, 2011

MINOR S&P...สยบข่าว "ไม่ซื้อ-ไม่ขาย" แต่แนบแน่นกว่าเดิม


ธุรกิจร้านอาหารขณะนี้ถือว่ามีความเคลื่อนไหวให้น่าจับตามองอยู่เป็นระยะ ๆ ที่ฮือฮาที่สุดในช่วงปลายสัปดาห์ ที่ผ่านมาเห็นจะเป็นกรณีของ "ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล" หรือ MINT ประกาศทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หุ้นของ "เอส แอนด์ พี" กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของตระกูลศิลาอ่อน และไรวา หรือพูดง่าย ๆ ก็ทำประกาศเทกโอเวอร์นั่นเอง

แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับกลายเป็น เรื่องทางเทคนิคและกฎระเบียบของ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทางไมเนอร์ฯต้องทำตามกฎเมื่อถือหุ้นข้ามเส้น 25% ทำให้ต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด หรือเทกโอเวอร์นั่นเอง ที่มาที่ไปก็เกิดจากเอส แอนด์ พีทำโครงการซื้อหุ้นคืนตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของไมเนอร์ฯปรับมาอยู่ที่ 26.28%



งานนี้ "ประเวศวุฒิ ไรวา" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จริง ๆ แล้วทั้ง เอส แอนด์ พีและไมเนอร์ฯเป็น strategic partner หรือพันธมิตรทางธุรกิจต่อกันมานาน 4 ปีแล้ว และยืนยันว่าครอบครัวไรวา และศิลาอ่อน ไม่มีความคิดที่จะขายกิจการแต่อย่างใด

"เรื่องนี้ผมทราบอยู่ก่อนแล้ว ทั้งเราและไมเนอร์ฯก็ร่วมงานกันมาอย่างดีตลอด ผลประกอบการออกมาก็พิสูจน์ให้เห็น ยืนยันว่าเราไม่มีเจตนาจะขายและทางไมเนอร์ฯก็ไม่ได้มีเจตนาจะเทกโอเวอร์"

บิ๊กบอสเอส แอนด์ พีกล่าวต่อว่า การร่วมมือกับทางไมเนอร์ฯส่งผลดีหลายอย่าง ซึ่งไมเนอร์ฯก็มีประสบการณ์ในเรื่องร้านอาหารในหลายด้านมาก มีการทำงานร่วมกันอย่างดีมาก พิสูจน์ได้จากผลประกอบการที่ผ่าน ๆ มาของเอส แอนด์ พี เราทำงานได้ดีมาตลอด และในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาก็อยู่ในระดับน่าพอใจ

"บทบาทไมเนอร์ฯในเอส แอนด์ พี คือเป็นกรรมการ ไม่ได้มานั่งบริหาร เราร่วมมือกันอย่างดีมาก เขาให้คำแนะนำเราเยอะมาก แต่วันนี้เราไม่ได้ร่วมกันทำแบรนด์ร้านอาหาร ไมเนอร์ฯเขาใหญ่มาก เราเป็นบริษัทเล็กกว่า"

เขาเล่าว่า ความร่วมมือต่าง ๆ ของเอส แอนด์ พีและไมเนอร์ฯอยู่ในรูปของการให้คำแนะนำปรึกษาหารือ อาทิ การตรวจสอบ การควบคุมคุณภาพในด้านต่าง ๆ หรือจะเป็นการแนะนำงานด้านบุคคล เรื่องพนักงานซึ่งเป็นปัญหาหลักของธุรกิจร้านอาหาร หรือจะเป็นงานบริการ ขณะเดียวกันก็ร่วมมือค้าขายทำธุรกิจกันหลายด้าน ที่สำคัญคือการจัดซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบร่วมกันเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลง

สำหรับไมเนอร์ฯที่มี "วิลเลียม อี ไฮเนคกี้" เป็นผู้คุมบังเหียน แน่นอนว่าการเข้าไปถือหุ้นในเอส แอนด์ พีนั้นช่วยให้ไมเนอร์ฯสร้างความได้เปรียบในเรื่องของ economy of scale ที่ทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการต่าง ๆ ถูกลง

ต้องยอมรับว่าองค์กรแห่งนี้คือผู้เยี่ยมยุทธ์ และเบอร์ 1 ในวงการร้านอาหารเมืองไทย ด้วยจำนวนแบรนด์และรายได้ ที่สำคัญคือ ความแข็งแกร่งของแบรนด์ ที่ไมเนอร์บริหารอยู่ ทั้งเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, แดรี่ควีน ฯลฯ

"ปรารถนา มงคลกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กลุ่มร้านอาหารของไมเนอร์ฯเติบโตอย่างมากปีนี้ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 10% ถือเป็นผลงานที่ดีมาก ปัจจัยหลักคือการควบคุมต้นทุนอาหารโดยใช้วิธีสต๊อกสินค้าล่วงหน้า 6 เดือน-1 ปี

"วิธีนี้ทำให้เรามีเวลาปรับตัวล่วงหน้าได้ดีขึ้น อาทิ ปรับเมนูหรือคอมโบเซตใหม่ เมื่อถึงเวลาที่วัตถุดิบต้องขึ้นจริง ๆ ก็จะไม่มีผลกระทบกับกำไร เพราะได้ปรับเมนูต่าง ๆ ล่วงหน้าแล้ว"

"ปรารถนา" ชี้ว่า สถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบทำให้ร้านอาหารต้องทำงาน หนักขึ้น ในส่วนของไมเนอร์ฯทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เข้มข้นขึ้น อาทิ หาแหล่งจัดซื้อใหม่ที่ราคาถูกลง หรือมีการสต๊อกสินค้าต่าง ๆ

วันนี้ไมเนอร์ฯมีสาขาร้านอาหารรวมกันถึง 1,169 สาขา โดยทั้งประเทศและต่างประเทศซึ่งวันนี้ไมเนอร์ฯกำลังขยายตัวไปในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเรื่อย ๆ และในเดือนกันยายนนี้ก็จะมีการเทกโอเวอร์แบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมในพอร์ตธุรกิจอาหาร ซึ่งจะเปิดสาขาในต่างประเทศเป็นหลัก

การร่วมมือกับเอส แอนด์ พีจึงถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของไมเนอร์ฯโดยเฉพาะด้านการจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ด้วยวอลุ่มที่มากขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนต่าง ๆ ที่ถูกลง รวมไปถึงการซินเนอร์ยี่กันในด้านอื่น ๆ

ถือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้นำร้านอาหารของ เมืองไทยกับยักษ์ใหญ่ร้านอาหารไทยและเบเกอรี่ช็อปที่วันนี้อยู่ในช่วงของการขยายไลน์ธุรกิจและแบรนด์ ใหม่ ๆ

แน่นอนว่าการผนึกกำลังกันในแง่การบริหารจัดการ จะยิ่งเพิ่มความได้เปรียบให้กับทั้งเอส แอนด์ พี และไมเนอร์ฯในการแข่งขันกับคู่แข่งของตัวเองและการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้

วันนี้ในแง่ของแบรนด์ทั้งคู่ไม่เพียงไม่ใช่คู่แข่ง แต่กลับเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่แนบแน่น

งานนี้จึงมีแต่วินกับวินเท่านั้น

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails