Pages

Thursday, August 18, 2011

ASIA BOOKS จิ๊กซอว์"เจริญ"มุ่งค้าปลีก นำร่องสินค้า"ไอที"เสริมอีบุ๊กต่อยอดธุรกิจในเครือ


เปิดโฉมใหม่ "เอเซียบุ๊คส์" ใต้ร่ม เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จิ๊กซอว์ตัวใหม่ของกลุ่มทุน "เจริญ สิริวัฒนภักดี"เปิดประตูสู่ธุรกิจ "ค้าปลีก" หลังพลาดเป้าจากคาร์ฟูร์ หวังต่อยอดธุรกิจในเครือเล็งขายไอแพด ไอโฟนของ "แอป เปิล" เดินหน้าเพิ่ม ความแข็งแกร่ง "อีบุ๊ก สโตร์" จับตาอนาคตทำโปรโมชั่นร่วมพร้อมเปิดร้านในศูนย์-อสังหาฯ ในเครือเจ้าสัวเจริญ


เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง สำหรับการลงทุนครั้งใหม่ของกลุ่มทุนใหญ่ตระกูล "สิริวัฒนภักดี" เมื่อบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี (BJC) ซึ่งมีบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ธุรกิจในเครือของ "เจริญ สิริวัฒนภักดี" เข้าซื้อกิจการบริษัท เอเซีย บุ๊คส์ จำกัด มูลค่า 1,195 ล้านบาท

น่าสนใจว่า การลงทุนครั้งนี้จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวใหม่เพื่อก้าวไปสู่ "ธุรกิจค้าปลีก" ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในเครือของเจ้าสัวเจริญ ที่มีแนวคิดการดำเนินธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ



บีเจซีลุยค้าปลีกต่อยอดธุรกิจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากดูจากวัตถุประสงค์ที่บีเจซีระบุในการซื้อกิจการเอเซียบุ๊คส์ จะเห็นถึงแผนการต่อยอดธุรกิจในเครือหลายประการ อาทิ ช่องทางจัดจำหน่าย ที่สามารถขยายช่องทางในรูปแบบใหม่และสนับสนุนสินค้าที่เพิ่มมูลค่า อาทิ การเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสามารถเข้าถึงกลุ่มสมาชิกของเอเซียบุ๊คส์ที่มีกว่า 1.4 แสนรายได้โดยตรง เป็นการเพิ่มโอกาสการขายสินค้าของบริษัทและต่อยอดธุรกิจใหม่

แหล่งข่าวจากบริษัท เบอร์ลี ยุคเกอร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การเข้าซื้อกิจการร้านหนังสือเอเซียบุ๊คว่า เสมือนการเปิดประตูสู่ธุรกิจรีเทล (ค้าปลีก) อย่างเต็มรูปแบบของนายเจริญ หลังจากพลาดหวังการเข้าซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในไทย ซึ่งครั้งนั้น บิ๊กซีเป็นผู้เสนอราคาสูงสุด และได้ครอบครองธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้ไป

การขยายตัวสู่ธุรกิจรีเทลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามยุทธศาสตร์ลงทุนที่มองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งเหล้าและเบียร์ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักมานานมีอุปสรรคในการทำตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การเติบโตต่ำ ถึงเวลาที่ทางกลุ่มจะต้องแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจแอลกอฮอล์ลง ประกอบกับที่ผ่านมา กลุ่มนายเจริญมีธุรกิจพัฒนาที่ดินอยู่ก่อนแล้ว ต่อไปจึงมีโอกาสที่ร้านเอเซียบุ๊คส์จะเข้าไปเปิดสาขาในศูนย์การค้า หรืออาคารสำนักงานที่นายเจริญเป็นเจ้าของ

"สาเหตุที่ใช้บีเจซีเข้าไปซื้อ เพราะอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน ประกอบกับธุรกิจของบีเจซี ส่วนหนึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคผลตอบแทนไม่สูงมาก การมีธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาจะทำให้ผลประกอบการดูดีขึ้น และส่งผลต่อราคาหุ้นในท้ายที่สุด"

ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์มองดีล ครั้งนี้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าถึง ผู้บริโภคโดยตรง และมีโอกาสมากที่นายเจริญจะซื้อกิจการค้าปลีกรายอื่น ๆ อีก

คาดเพิ่มไลน์ขายสินค้าไอที

แหล่งข่าวจากธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ใช่แค่การรุกเข้าสู่ธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือ แต่ยังหมายถึงการ ขยับขยายไปยังธุรกิจค้าปลีก เนื่องจาก เอเซียบุ๊คส์มีช่องทางร้านขายหนังสือนับร้อยแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในโซนที่มีกำลังซื้อ โดยคาดว่าจากนี้ร้านเอเซียบุ๊คส์จะมีการปรับโฉม และขยายไปสู่การทำตลาดผลิตภัณฑ์ อื่น ๆ อาทิ สินค้าไอที เนื่องจากมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว

"กลุ่มทีซีซีในเครือคุณเจริญทำธุรกิจไอทีอยู่แล้ว ได้ยินว่ากำลังพยายามดีลกับแอปเปิล เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของแอปเปิลเช่นกัน โดยที่ผ่านมามีการสั่งซื้อไอแพดผ่านตัวแทนจำหน่ายบางรายไปแล้วหลายร้อยเครื่อง"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันเอเซียบุ๊คมีการจำหน่ายสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ อาทิ แท็บเลต, ทอล์คกิ้ง ดิกส์ ฯลฯ สอดรับกับการขยับตัวไปสู่ "อีบุ๊ก สโตร์" ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งในด้านสินค้าอุปกรณ์ไอที การที่จะนำสินค้าไอทีอื่น ๆ เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม จึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของเอเซียบุ๊คส์เป็นทุนเดิม

ลุยอีแมกาซีน-สินค้าไอที

นายสิโรตม์ จิระประยูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซีย บุ๊คส์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำหรับการต่อยอดธุรกิจร่วมกับบีเจซี ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะนำสินค้าเครื่องเขียน และอุปกรณ์สำนักงาน ที่บีเจซีเป็นตัวแทนจำหน่ายในปัจจุบัน อาทิ แบรนด์ 3 เอ็ม, เอชพี และดั๊บเบิ้ลเอเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าในส่วนของ "อีบุ๊ก สโตร์" โดยมีแผนเพิ่มบริการดาวน์โหลดอีแมกาซีน และเปิดให้บริการแอปพลิเคชั่นในแอนดรอยด์และไอแพด จากเดิมดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ จะเริ่มภายในเดือนนี้ ส่วนหนังสือที่มีกว่า 5 แสนชื่อเรื่อง ก็จะเพิ่มให้ครบ 1 ล้านชื่อเรื่องในสิ้นปี

"อีบุ๊กยังมีคนใช้น้อย ถ้าคุ้นเคยจะโตแบบก้าวกระโดด และถ้ารัฐบาลแจกแท็บเลตในการเรียนหนังสือ เราก็สามารถขายได้ทันที เพราะมีเทคโนโลยีและพาร์ตเนอร์ด้านคอนเทนต์ที่แข็งแรง ถือเป็นเจ้าแรกที่พร้อมที่สุด"

เอเซียบุ๊คส์ชี้เพิ่มศักยภาพทำธุรกิจ

สำหรับโครงสร้างของเอเซียบุ๊คส์ หลังอยู่ภายใต้บีเจซี นายสิโรตม์กล่าวว่า ยังคงนโยบายเดิม โดยมีโพซิชันนิ่งเป็นร้านจำหน่ายหนังสือระดับแอดวานซ์ ที่ไม่ใช่หนังสือขั้นพื้นฐานทั่วไป เพื่อสร้างความแตกต่าง อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของกลุ่มบีเจซี ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ จะช่วยให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อการตัดสินใจขยายสาขาได้รวดเร็ว และยังสามารถผนึกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ จัดโปรโมชั่นร่วมกับธุรกิจในเครือคุณเจริญที่มีหลากหลาย อาทิ การนำบัตรสมาชิกของเอเซียบุ๊คส์ไปเป็นส่วนลดของโรงแรมในเครือคุณเจริญ เป็นต้น

"เราเป็นธุรกิจค้าปลีกรายแรก หรืออันดับต้น ๆ ของบีเจซี จากนี้คงต้องติดตามว่านโยบายต่อไปของบีเจซีจะเดินไปทางไหน ทางบีเจซีไม่ได้ปรับแนวทางบริหาร เพราะเอเซียบุ๊คส์อยู่ในตลาดมา 42 ปี ถือว่าตอกเสาเข็มแล้ว เมื่อ 2 ค่ายที่มีความแข็งแรงมาเจอกันก็ยิ่งเป็นแรงบวก การขยายธุรกิจต้องการเงินทุน ซึ่งกลุ่มบีเจซีเป็นกลุ่มที่แข็งแรง ช่วยผลักดันเอเซียบุ๊คส์ให้เติบโตเร็วขึ้น"

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails