Pages

Monday, September 20, 2010

ชิงดำ CARREFOUR เงินถึง ใจถึง คว้าชัย

"คาร์ฟูร์" ประกาศขายกิจการใน 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทั้งในไทย  มาเลเซีย และสิงคโปร์   สร้างความฮือฮาให้กับวงการค้าปลีกทั่วโลก  เพราะ "คาร์ฟูร์" ถือเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำระดับโลก

สำหรับในประเทศไทย  ที่ "คาร์ฟูร์"  ถูกจับตามองเป็นพิเศษ  เพราะด้วยขนาดที่ใหญ่และมีจำนวนสาขารวมถึง 44  แห่ง มากกว่าทั้งในมาเลเซีย และสิงคโปร์  การเสนอตัวประมูลรอบแรก ผ่านพ้นไปด้วยดี โดยมีผู้ประกอบการที่ล้วนอยู่ในระดับบิ๊กของแวดวงต่างๆ ทั้งในโลคัลและอินเตอร์เนชั่นแนล ที่เข้าร่วมเสนอตัวประมูล และมีผู้ผ่านเข้ารอบ 2 เพียง 4 บริษัทเท่านั้น ได้แก่ กลุ่มกาสิโน  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ในเมืองไทย  กลุ่มเซ็นทรัล  ภายใต้ตระกูล "จิราธิวัฒน์"   เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)  บริษัทคอนซูเมอร์รายใหญ่ในกลุ่มนายเจริญ  สิริวัฒนภักดี  ค่ายเบียร์ช้าง  และ ปตท.  บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน

ขณะที่ผู้ที่ไม่ผ่านการประมูล ประกอบไปด้วย เทสโก้  เครือข่ายค้าปลีกรายใหญ่จากอังกฤษ  อิออน กรุ๊ป ยักษ์ค้าปลีกจากญี่ปุ่น  และแดรี่ ฟาร์ม  อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์  กลุ่มบริษัทสิงคโปร์ โดยทั้ง 4 บริษัทที่ผ่านการประมูลจะต้องนำเสนอแผนงานอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้  ซึ่งเป็นการบ้านที่หนักหน่วงว่าใครจะนำเสนอเม็ดเงินได้โดนใจ และมีแผนงานที่เข้าตา ที่ "คาร์ฟูร์"  ต้องการมากที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในวงการธุรกิจค้าปลีกเมืองไทย  แสดงทรรศนะว่า  สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด สำหรับทั้ง 4 องค์กรที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ คือ เรื่องของ "เงิน"  เพราะเป็นสิ่งที่คาร์ฟูร์ ฝรั่งเศส ต้องการมากที่สุด  สิ่งนี้จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ยักษ์ใหญ่อย่าง "เทสโก้"  ตกรอบแรกไปโดยปริยาย ซึ่งไม่ใช่ว่า "เทสโก้"  ไม่มีเงิน  แต่เป็นเพราะเทสโก้ เสนอราคาประมูลให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

และแม้ "คาร์ฟูร์"  เชื่อว่าการขายกิจการครั้งนี้จะต้องได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  แต่หากผู้ร่วมประมูลเสนอเม็ดเงินซื้อกิจการเฉพาะในเมืองไทย ได้อย่างสวยหรู ก็น่าจะที่เฉือนกิจการในเมืองไทยขายทันที แทนที่จะรอขายยกแพ็ก

หากวิเคราะห์ถึงเป้าหมายในการเข้าซื้อกิจการของทั้ง 4 บริษัทที่ผ่านเข้ารอบ ต่างมีข้อได้เปรียบ และเสียเปรียบใกล้เคียงกัน  โดยเฉพาะ "ปตท."   หากสามารถควัก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯซื้อกิจการคาร์ฟูร์ทั้ง 44 สาขาได้  ก็จะทำให้ปตท.  มีเอาต์เลตเพิ่มขึ้นและมีเครือข่ายที่จะช่วยกระจายสินค้าเสริมความเป็นรีเทลให้ปตท. ได้เต็มรูปแบบขึ้น เพราะโลเกชันของคาร์ฟูร์  ถือเป็นทำเลที่อยู่ในเกรดเอและมีลูกค้าประจำจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญหากในอนาคตที่ปตท. ต้องการขยายไลน์ธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจอื่นๆ  ส่วนจุดอ่อนของ ปตท. คือ การขาดมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านค้าปลีกเข้ามาบริหาร  ทำให้เชื่อว่าต้องเฟ้นหามือดีในวงการเข้ามาช่วยเสริมทัพ

ด้าน "เบอร์ลี่ ยุคเกอร์"  ซึ่งที่ผ่านมามีจุดแข็งด้านการเป็นผู้เชี่ยวชาญสินค้าอุปโภค บริโภค และด้านการกระจายสินค้าที่มีประสบการณ์สูง  การได้ "คาร์ฟูร์"  เข้ามาอยู่ในครอบครองจะช่วยทำให้ช่องทางการจำหน่ายของเบอร์ลี่  แข็งแกร่ง และมีโอกาสก้าวจากตัวแทนจำหน่าย ขึ้นเป็นผู้ค้าเต็มตัว  อีกทั้งยังสามารถพัฒนาบุคลากรให้เติบโตและกลายเป็นมืออาชีพได้ในอนาคต  ขณะที่เบอร์ลี่ เองจุดอ่อนคืออาจจะขาดความชำนาญในด้านการบริหารจัดการค้าปลีก  ซึ่งย่อมต้องการมืออาชีพเข้ามาเสริมเช่นเดียวกัน

ส่วน "กลุ่มกาสิโน"  หรือบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  แม้จะมีความชำนาญในด้านธุรกิจค้าปลีก และน่าจะมีภาษีในด้านความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการที่ดีกว่า  การได้คาร์ฟูร์เข้ามาเสริมทัพ จึงช่วยเสริมทำให้แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ขึ้น แต่ก็จะพบว่า การเป็นคู่แข่งที่เคยฟาดฟันกันมาก่อน  ทำให้โลเกชันบางจุดที่มีสาขาของบิ๊กซีอยู่  จะทำให้ "โลเกชัน" เหล่านั้นหมดความหมาย และเป็นการบ้านหนักที่บิ๊กซี ต้องแก้ไขให้ได้  เช่นเดียวกับ "กลุ่มเซ็นทรัล"  ที่แม้จะมีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีก และเป็นเบอร์ 1 ที่มีพื้นที่ค้าปลีกสูงสุดในเมืองไทย  และมีมือบริหารระดับโพรเฟสชันนัลอยู่เยอะ แต่ก็ยังขาดประสบการณ์ด้านการบริหารค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต  ดังนั้นบทบาทหนัก จึงไปตกอยู่กับ "ท็อปส์" ที่อาจต้องทำหน้าที่บริหารจัดการหากกลุ่มเซ็นทรัล ได้สิทธิครอบครอง "คาร์ฟูร์"

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 2 ต่างซุ่มเตรียมแผนงาน พร้อมข้อเสนอที่เชื่อว่าจะเด็ดสุดให้กับคาร์ฟูร์  เพราะต่างเชื่อในศักยภาพของตนเอง  โดยนายฐาปน  สิริวัฒนภักดี  กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)  หรือบีเจซี  ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  การเสนอแผนงานร่วมประมูลการซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ในรอบ 2 ที่จะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้  ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะนำเสนอจำนวนเงินในการซื้อและแผนงานที่เตรียมไว้ว่าจะเป็นอย่างไร  ซึ่งสามารถเป็นไปได้ทั้งการเสนอเข้าซื้อกิจการโดยบีเจซี แต่เพียงผู้เดียวเพราะบีเจซีเองมีศักยภาพมากพอ  และการร่วมกับพาร์ตเนอร์ เพื่อเสริมจุดแข็ง ปิดจุดอ่อนซึ่งจะทำให้บีเจซีแข็งแกร่ง และเพิ่มศักยภาพให้มากขึ้นด้วย  ส่วนการจะได้หรือไม่เชื่อว่า หากเสนอตัวเข้าร่วมประมูลย่อมมองเห็นโอกาสที่จะได้อยู่แล้ว

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวงการค้าปลีกเมืองไทยครั้งนี้ น่าจะมีข้อสรุปได้ก่อนสิ้นปีนี้  แล้วการแข่งขันที่เข้มข้น จะคึกคักและมีสีสันขึ้นมากเพียงใด ต้องติดตามตอนต่อไป....

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails