Pages

Monday, April 13, 2009

เปิดมิติใหม่...ซีพีออลล์ รุก "ค้าปลีก" ควบคู่การศึกษา


แม้เมืองไทยจะมีเชนค้าปลีกรายใหญ่ในโลกตบเท้าเข้ามาเปิดบริการจนเกือบครบทุกแบรนด์ แต่เป็นที่ทราบกันดีของคนในแวดวงว่า ยังไม่มีสถาบันการศึกษาแห่งใดที่เปิดหลักสูตรเกี่ยวกับการบริการ การจัดการธุรกิจค้าปลีก อย่างจริงๆ จังๆ ทั้งๆ ที่นับวันธุรกิจนี้จะยิ่งเติบใหญ่มากขึ้นทุกวัน และมีหลายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง




"ซีพี ออลล์" ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ และสถาบันเพิ่มผลผลิต แห่งชาติ จัดหลักสูตรอบรมระยะสั้น "Advance Retail Management" (ARM) เพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนแนวทางบริหารจัดการองค์กรสำหรับนักธุรกิจที่สนใจ



"ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์" ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดใจในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบัน ซีพี ออลล์ มีบริษัทในเครือหลายบริษัท และมีงานที่ต้องทำมากกว่า 10 โครงการ บริษัทจึงมองเป็นโอกาสดีที่จะถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้ไปยังองค์กรต่างๆ โดยจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้น 4 เดือน เพื่อให้ผู้สนใจนำความรู้ที่ได้จากประสบการณ์จริงไปปรับใช้ในองค์กรของตน




"เราอยากเห็นองค์กรเมืองไทยแข็งแรง ทั้งการขายและการบริหารจัดการที่ดี จึงอยากเผยแพร่ความรู้ให้องค์กรอื่นๆ นำไปศึกษาและปรับใช้ เพื่อให้มีอาวุธครบมือ"



กลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้ ได้แก่ เจ้าของกิจการหรือทายาท ธุรกิจคู่ค้าและพันธมิตร เน้นผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูง มีประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี



ปัจจุบันมีนักเรียนจบหลักสูตรไปแล้ว 1 รุ่น รุ่นที่ 2 กำลังศึกษา และเดือนพฤษภาคมจะเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 โดย 2 รุ่นแรกได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ มากมาย เช่น มาลี มาม่า ดีทแฮล์ม กูลิโกะ เถ้าแก่น้อย ธนาคารกสิกรไทย ทรู ฯลฯ



"ถามว่า ซีพี ออลล์ ได้อะไรจากโครงการนี้ ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ไม่มีอะไรเสีย เราไม่มีความลับเพราะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงการนี้จัดเป็นการให้บริการด้านการศึกษาถือเป็นการช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ โดยเอาตัวเองเป็นตู้โชว์"



เขาอธิบายด้วยว่า ผู้เข้าร่วมหลักสูตรจะได้เห็นกระบวนการทำงานจริงของซีพี ออลล์ และได้สัมผัสดูงานจากสถานที่จริง เช่น คลังสินค้า โรงงานอาหาร ฯลฯ ซึ่งมั่นใจในคุณภาพของหลักบริหารจัดการได้ การันตีจากรางวัลคุณภาพแห่งชาติระดับคลาส (Thailand Quality Class : TQC) จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 5 รางวัล



เป็นของ ซี.พี.ค้าปลีกและการตลาด (ซีพีแรม) 2 รางวัล ได้แก่ โรงงานอาหารสำเร็จรูป และโรงงานเบเกอรี่ ส่วนเซเว่น อีเลฟเว่นได้ 2 รางวัล ในเรื่องภาพรวม และอีก 1 รางวัลเป็นของเคาน์เตอร์เซอร์วิส



ส่วนรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก "ก่อศักดิ์" ยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ แม้แต่ เซเว่นอีเลฟเว่นที่เคยเอาเข้าประกวด แต่พลาดมาแล้ว อย่างไรก็ตาม "ก่อศักดิ์" ยืนยันว่าจะ "บ้าเลือด" ส่งเซเว่นฯเข้าชิงรางวัลต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า



"ยิ่งมีกรรมการเข้ามาตรวจงานในองค์กร ยิ่งทำให้พนักงานตื่นตัว ที่สำคัญหากองค์กรไม่ผ่านเกณฑ์ กรรมการจะบอกสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อไป"



เมื่อถามถึงสิ่งที่เซเว่นอีเลฟเว่นต้องแก้ไข "ก่อศักดิ์" เฉลยให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า "มีมากมายจนเจียระไนภายในวันเดียวไม่จบ เพราะเซเว่นฯเป็นองค์กรที่ต้องขยายตัวตลอดเวลา อย่างสาขาที่มากขึ้นก็ทำให้เราต้องดูแลลูกน้องมากขึ้นตามไปด้วย และเมื่อขยายมาถึง 4,900 สาขา ปัญหาจุกจิกก็เพิ่มมาก จนต้องตั้งอีกบริษัทเพื่อจัดการปัญหาจุกจิกโดยเฉพาะ"



"พนักงานในร้านก็สำคัญ ยิ่งคนเยอะ เราก็ต้องคุมเขาให้อยู่ อย่างปัญหาของหาย ตามหลักวิชาการบอกว่า 83% เป็นโจรใน 17% เป็นโจรนอก ถ้าลูกน้องไม่รักองค์กร เขาเห็นตำตาว่าเพื่อนขโมยของ เขาก็ไม่ห้าม ตรงข้าม ถ้าเขารักองค์กร เขาจะไม่ยอมให้ใครมาขโมยของ"



"ก่อศักดิ์" บอกเคล็ดลับให้ฟังว่า "ทุกวันนี้เราคุมโจรในอยู่ด้วยการทำให้เขามีการศึกษา ทำให้เขาเห็นอนาคต และสุดท้ายเขาจะรักองค์กร"



ถือเป็นมิติใหม่ของซีพี ออลล์ ที่เพิ่มขอบเขตการให้บริการไปยังการให้ "ความรู้"



Reblog this post [with Zemanta]

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails