Pages

Monday, April 18, 2011

"ฮับค้าปลีก" ฝันเป็นจริง ดัน "สยาม-ราชประสงค์-ประตูน้ำ" เทียบชั้นศูนย์รวมช็อปปิ้งโลก

Central World, Bangkok
ถึงนาทีนี้กล่าวได้ว่าศูนย์รวมการช็อปปิ้ง "ฮับค้าปลีก" ของไทยเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีราชประสงค์ ปทุมวัน สยาม และประตูน้ำ เป็นชัยภูมิสำคัญ ไม่ใช่เป็นเพียงภาพฝันของเหล่าผู้ประกอบการอีกต่อไป หลังจากจิ๊กซอว์ใหญ่ ๆ ค่อย ๆ ถูกเชื่อมต่อกัน

จากศูนย์การค้าใหม่ ๆ ทันสมัยเทียบได้กับระดับโลกที่ทยอยเปิดตัว จากการก่อเกิดศูนย์รวมสตรีตแฟชั่นในย่านประตูน้ำที่มีความสำเร็จของ "แพลทินัมพลาซ่า" เป็นตัวจุดประกายให้เกิดการลงทุนในรูปแบบเดียวกันจำนวนมาก ทั้งจากโครงข่ายสาธารณูปโภค รถไฟฟ้าบีทีเอส แอร์พอร์ตลิงก์รวมถึงการทุ่มทุนมโหฬารของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างโครงข่ายทางเท้าลอยฟ้า "สกายวอล์ก" อำนวยความสะดวกให้กับบรรดานักช็อป



ทำเลทองกว่า 4 ล้าน ตร.ม.

มองจาก "มุมสูง-bird eye view" ฮับค้าปลีกของไทย กินอาณาบริเวณมหาศาล ต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ กว่าจะเยี่ยมเยียนครบทุกหลืบมุม ด้านหนึ่งเริ่มตั้งแต่หัวมุมสี่แยกปทุมวัน มาบุญครอง สยามพารากอน เรื่อยมาทางเกษร เซ็นทรัลชิดลม ไปสิ้นสุดที่เพลินจิต

อีกด้านหนึ่งจากตึกใบหยก ศูนย์การ ค้าอินทรา ลากผ่านแพลทินัม เซ็นทรัลเวิลด์ มาสิ้นสุดที่เพนนินซูล่าพลาซ่า

ประเมินพื้นที่ค้าขายทั้งหมดน่าจะมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 4 ล้านตารางเมตร เฉพาะสยามพารากอนมีพื้นที่ 500,000 ตารางเมตร ส่วนเซ็นทรัลเวิลด์ที่มีพื้นที่ถึง 429,500 ตารางเมตร ไม่รวมถึงโครงการใหม่ ๆ ที่เตรียมทยอยเปิดโครงการในอีก 1-2 ปีนับจากนี้

แต่ละวันละแวกนี้มีผู้คนหมุนเวียนมาช็อบปิ้งหลายแสนคน เฉพาะศูนย์การค้าใหญ่ ๆ มีนักช็อปเฉลี่ยมากกว่าแสนคนทุกแห่งอยู่แล้ว แน่นอนว่านักช็อปหลั่งไหลเข้ามาเหล่านี้ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล

เม็ดเงินค้าขายมหาศาลนี้เองคือเหตุผลว่า เพราะอะไรถึงได้เป็นทำเลทอง เป็นย่านดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่เสนอตัวเข้ามาเป็นทางเลือก ขณะเดียวกันเร่งให้รายเดิมต้องปรับตัวให้ดูดี มีลูกเล่น-กิมมิกใหม่ ๆ มาเพื่อเติมสีสัน รับกับไลฟ์สไตล์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

มีครบ "สุดหรูยันแบกะดิน"

"ชฎาทิพ จูตระกูล" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งปักหลักย่านนี้มานาน มองว่า ไม่มีทำเลค้าขายตรงไหนในเมืองไทยที่มีศักยภาพเท่าที่นี้อีก

"ความครบและสมบูรณ์แบบของทุกประเภทสินค้า ระดับราคา และทุกกลุ่มทาร์เก็ต ไม่ว่าจะช่วงอายุวัยไหน ไลฟ์สไตล์ใด ทั้งคนไทยและต่างชาติ"

ลำพังแค่เส้นปทุมวันที่มีสยามพารากอน รองรับตลาดกลาง-บน สยาม เซ็นเตอร์เป็นจุดรวมของวัยรุ่น และแฟชั่นดีไซเนอร์, สยามดิสคัฟเวอรี่ เน้นกลุ่มครอบครัว หรือสยามสแควร์ที่ขายความเป็นช็อปปิ้งสตรีต รวมไปถึงมาบุญครองที่เป็นศูนย์รวมร้านค้ารายย่อย

ความหลากหลายของสินค้านำมาซึ่งความหลากหลายของกลุ่มลูกค้าที่ครบทุกเซ็กเมนต์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลักเซอรี่ พรีเมี่ยม พรีเมี่ยมแมส แมส สตรีตแฟชั่น 199 บาท หรือแม้แต่แบกะดิน กลายเป็นความแตกต่างที่ลงตัว

ขณะที่ "ชาย ศรีวิกรม์" เจ้าของห้างเกษร และนายกสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ในปัจจุบัน ที่ย้ำและชี้มาตลอดถึงการรวมตัวกันของผู้ประกอบการทั้งย่าน โดยเฉพาะในกลุ่มราชประสงค์ ที่ต้องการปั้นให้ทำเลนี้เป็นแหล่งช็อปปิ้งระดับโลกเทียบชั้นคู่แข่งต่างประเทศ

เจ้าของห้างเกษรรายนี้ยังมองว่า ราชประสงค์เป็นจุดศูนย์กลางที่ดีมากเทียบชั้นออร์ชาร์ด สิงคโปร์ หรือถนนนาธานของฮ่องกงได้อย่างไม่มีปัญหา

เนื่องจากครบถ้วนทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ห้างหรูหรา และสินค้าระดับแมส ที่ใคร ๆ ก็สามารถซื้อหา

แหล่งรวม "ซิกเนเจอร์อีเวนต์"

ไม่เพียงแต่การเป็นศูนย์รวมของสถานบริการ ร้านค้า ร้านอาหาร ความบันเทิง และแหล่งช็อปปิ้งทุกรูปแบบ เมื่อมีผู้คนเดินช็อบปิ้งเป็นหลักแสน ๆ ทุกวัน โดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์ที่นักช็อปจะเพิ่มขึ้นเป็นสิบ ๆ เปอร์เซ็นต์ทำให้เป็นแหล่งรวมอีเวนต์นับพัน ๆ งาน

เป็นธรรมชาติของผู้จัดงานอีเวนต์ที่มักเลือกทำเลที่มีผู้บริโภคเป้าหมายแวะเวียนเข้าชมงานให้มากที่สุด

ปีที่ผ่านมาสองศูนย์การค้าดัง สยามพารากอน-เซ็นทรัลเวิลด์ มีอีเวนต์ตั้งแต่เล็ก ๆ ถึงขนาดบิ๊กเบิ้มไม่เว้นแต่ละวัน

ขณะเดียวกันยังมีแรงผลักดันจากผู้ประกอบการที่ต้องการให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแลนด์มาร์กแหล่งรวมกิจกรรมและ

อีเวนต์ใหญ่ระดับประเทศที่ผ่านมา นอกจากรูปแบบกิจกรรมและอีเวนต์ที่แต่ละผู้ประกอบการเติมสีสันสำหรับดึงทราฟฟิกคนไทยและเทศในแต่ละช่วง ต้องยอมรับว่างาน "แบงค็อก เคานต์ดาวน์" ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้กลายเป็นซิกเนเจอร์อีเวนต์ที่ตอกย้ำภาพ "ศูนย์รวมนักช็อป" ของย่านนี้ไปทั่วโลก

ทุนใหม่-เก่าเร่งเปิดตัวรับดีมานด์

นอกเหนือจากการลงทุนศูนย์การค้า 5 ดาวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือ "เซ็นทรัลเอ็มบาสซี" ของค่ายจิราธิวัฒน์ ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลถึงหมื่นล้าน

อีกด้านการลงทุนในกลุ่ม "สตรีตแฟชั่น" ตลอดเส้นประตูน้ำ-ราชปรารภ เป็นอีกเซ็กเมนต์หนึ่งที่คาดว่าจะคึกคักที่สุดภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ เฉพาะในปีนี้จะมีพื้นที่ค้าขายเกิดขึ้นมากกว่า 2,000 ห้อง นั่นหมายความถึงจำนวนร้านค้าที่เพิ่มขึ้นอีกนับพันราย

"ชัชวาลย์ พงษ์สุทธิมนัส" กรรมการบริหาร บริษัท เอส.พี.ที.แมเนสเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าแพลทินัม ฉายภาพว่า พื้นที่ร้านค้าที่เพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ห้องนี้ ส่งผลให้ตลาดขยายตัวแบบก้าวกระโดด ทั้งจำนวนนักช็อปและมูลค่าตลาด

จากปัจจุบันธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกเสื้อผ้า และสินค้าแฟชั่นในย่านประตูน้ำ มีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านบาท และเติบโต 5-10% ต่อเนื่องทุกปี

"เมื่อประตูน้ำแข็งแกร่ง คนขายก็อยากมาขาย คนซื้อก็อยากมา ซื้อที่เดียวแล้วได้ครบ ภาพการแข่งขันก็คงดุเดือด แต่ทุกคนก็ต้องมีจุดแข็งของตัวเอง แต่ภาพที่จะเห็นหลังจากนี้คือแหล่งค้าส่งสินค้าแฟชั่นในย่านอื่น ๆ ที่เคยเป็นคู่แข่งอย่างจตุจักร หรือโบ๊เบ๊ อาจได้รับผลกระทบบ้าง"

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจพบว่า ศูนย์สินค้าแฟชั่นค้าปลีกค้าส่งที่ทยอยเปิดตัวในย่านประตูน้ำ อาทิ แพลทินัมเฟส 2 ที่มีมูลค่าโครงการ 2,500 ล้าน

วอเตอร์เกต พาวิลเลี่ยน 5,500 ล้าน ประตูน้ำเซ็นเตอร์ ของเจ้าของตลาดโบ๊เบ๊-สยามแก๊ส ที่รีโนเวตพื้นที่ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นพาราเดี้ยม รวมถึงโครงการชิบูญ่า และล่าสุดไดมอนด์แกรนด์ ที่ปรับพื้นที่ในส่วนโรงแรมเป็นศูนย์แฟชั่นค้าปลีก-ค้าส่ง ฯลฯ

นอกจากนี้มีที่ดินอีก 19 ไร่ (บางกอกบาซาร์เดิม) ที่สำนักงานกรมทรัพย์สินฯอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้ลงทุนเช่นเดียวกับที่ดินผืนใหม่ ๆ ละแวกใกล้เคียงที่หลาย ๆ คนกำลังหมายตา

และไม่ว่ากลุ่มทุนใดที่ได้รับการคัดเลือก ย่อมเข้ามาเติมเต็มความครบเครื่องของทำเลทองค้าปลีกทั้ง 4 ล้าน ตร.ม.แห่งนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails