Pages

Friday, June 3, 2011

สยามฯเติมความสดสู้ศึกค้าปลีก ทุ่มปรับโฉมถี่ยิบสกัดคู่แข่ง-"พารากอน"คิวต่อไป

สยามพิวรรธน์ชูกลยุทธฺ์ปรับโฉมศูนย์การค้าในเครือถี่ยิบ เติมเต็มความสดใหม่ร้านค้าสู้ศึกค้าปลีกกลางกรุง ระบุไลฟ์สไตล์นักช็อปเปลี่ยนเร็ว หยุดย่ำอยู่กับที่ไม่ได้ แจงหลังปรับ "ดิสคัฟเวอรี่" เติมทั้งแบรนด์เนม-ร้านอาหาร-บันเทิง เสร็จเดือนพ.ย.นี้ ตั้งเป้าปรับโฉม "สยามพารากอน" อีก หวังฉีกตัวหนีคู่แข่งหน้าใหม่ไม่เห็นฝุ่น พร้อมเทงบฯการตลาด ทั้งปี 300 ล้าน ดัน "พาราไดซ์ พาร์ค" ให้ติดลมให้ได้


การแข่งขันของศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ ที่มีความเข้มข้นในทุก ๆ มิติ เพราะมียักษ์ใหญ่ลงสนามครบทุกค่าย ขณะเดียวกัน มีศูนย์การค้าใหม่ ๆ ที่จ่อคิวเตรียมเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ไม่นับรวมถึงไลฟ์สไตล์การช็อปปิ้งของคนกรุงที่เปลี่ยนไป ทำให้ศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์เลือกใช้กลยุทธ์ "ปรับโฉม" ให้ถี่ขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสัมผัสได้ถึงความแตกต่างจากคู่แข่งอยู่เสมอ



รีโนเวต-เพิ่มแม็กเนตถี่ยิบ

นางชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กลยุทธ์ของบริษัทนับจากนี้จะเพิ่มความถี่ในการรีโนเวตภายในและภายนอกศูนย์การค้าทั้ง 3 แห่ง คือสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน เพื่อสร้างความแปลกใหม่อยู่เสมอ

กลยุทธ์นี้ตอบโจทย์ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้งตัวศูนย์การค้า ผู้ค้า และลูกค้าที่มาใช้บริการ เห็นได้จากยอดขายไตรมาสที่ผ่านมาแม้ว่ารีโนเวตเสร็จไปบางส่วนยังเพิ่มถึง 18% ส่วนลูกค้าเพิ่มขึ้น 25% แสดงว่ากลยุทธ์นี้ได้ผล

ในอดีตการแข่งขันไม่มากนัก การรีโนเวตจะทำทุก ๆ 10 ปี ต่อมาเหลือ 7 ปี และลดลงเรื่อย ๆ ล่าสุด แนวทางของบริษัทจะรีโนเวตทุกปี

"การรีโนเวตจะทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ ๆ เทรนด์ใหม่ มีแองเคิล (จุดขาย) ใหม่ ๆ เข้ามา มีแบรนด์ใหม่ ๆ บรรยากาศใหม่ ๆ ขณะที่ศูนย์การค้ามีผู้มาใช้บริการมากขึ้น"

ดึงแม็กเนตเสริมทัพไม่หยุด

ล่าสุด บริษัทได้รีโนเวตสยามดิสคัฟเวอรี่ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่เปิดบริการ นำร้านค้าแบรนด์ดัง ๆ ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ไม่เคยเปิดในศูนย์การค้าอื่น ๆ มาเป็น magnet ใหม่ ๆ ทั้งในส่วนแฟชั่น ไอที เอ็นเตอร์เทนเมนต์ และร้านอาหารชั้นนำ

โดยเฉพาะบริเวณชั้น 6 และ 7 ซึ่งเคยเป็นโรงหนังแกรนด์อีจีวีเดิม ได้ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ให้เป็น THE SKY DINNING และ MOOD แหล่งนัดพบของคนทุกวัย มีจุดขายด้วยบรรยากาศวิวกรุงเทพฯ แบบพาโนรามิก ทั้ง 2 โซนจะมีงานเปิดตัวในวันที่ 17 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สยามดิสคัฟเวอรี่ได้เปิดตัว "พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ" เป็นแห่งที่ 10 ของโลก และแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร และ "ไอซ์ แพลนเน็ต" ลานสเก็ตน้ำแข็ง บนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร

การรีโนเวตครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับสยามดิสคัฟเวอรี่ นางชฎาทิพกล่าวว่าก่อให้เกิดการเติมเต็ม ทำให้ได้กลุ่มลูกค้าใหม่คือนักท่องเที่ยว รวมทั้งมี"จุดขายหลัก" ใหม่ๆ อาทิ ร้านอาหาร ที่ยังขาดอยู่และอยากมีมานาน การรีโนเวตใหญ่ครั้งนี้จะเสร็จทุกโซนภายในเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่การเปิดให้บริการมาดามทุสโซอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ โดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่กับคนไทยยังถือเป็นเรื่องใหม่ซึ่งต้องใช้เวลา คล้ายๆ กับตอนเปิดสยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ในสยามพารากอน

สยามพารากอน คิวต่อไป

ผู้บริหารสยามพิวรรธน์ยอมรับว่า ผู้บริโภคคนไทยเวลานี้มีทิศทางปรับเปลี่ยนตัวเองเร็วมาก มีการรับรู้ข่าวสารจากทุกมุมโลก ขณะเดียวกัน การ

แข่งขันในธุรกิจศูนย์การค้าในย่านกลางเมืองมีสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวไม่ให้หยุดนิ่งเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง การรีโนเวตภายนอกภายในที่ชัดเจน จะทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง

"ปีที่แล้ว เราเริ่มรีโนเวตตัวดิสคัฟเวอรี่ มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พอเดือนกันยายนรีโนเวตสยามเซ็นเตอร์ ส่วนสยามพารากอนจะมีการรีโนเวตในเร็ว ๆ นี้ เพื่อฉีกตัวเองจากคู่แข่งขัน และรับน้องใหม่ที่ก้าวเข้ามา"

นอกจากนี้ การที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ เข้ามาปักหลักลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการเช่าพื้นที่ศูนย์การค้ามีเพิ่มสูงขึ้น การรีโนเวตจะทำให้มีพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อรองรับร้านค้ากลุ่มนี้

"ศูนย์การค้าของเราทั้ง 3 แห่ง ไม่มีพื้นที่เช่าเหลืออีก หากเราไม่อยากเสียโอกาส ก็ต้องปรับพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ร้านค้าเหล่านี้"

เท 300 ล. อีเวนต์ "พาราไดช์"

นอกจากนี้ หัวเรือใหญ่สยามพิวรรธน์ยังได้กล่าวถึงศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค หลังเข้าซื้อกิจการและเปิดเกือบครบปีว่า ในแง่ของกำลังซื้อและกลุ่มลูกค้าไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการเจาะกลุ่มเป้าหมายชัดเจนและแตกต่าง แต่สิ่งที่กังวลคือการก่อสร้างถนนที่ไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ ทั้งในฝั่งเส้นถนนบางนาและพัฒนาการ ทำให้ศูนย์ต้องออกแรงเพิ่มอีเวนต์ทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวเร่งกระตุ้นให้ลูกค้าออกมา

ปีนี้ พาราไดซ์ พาร์ค ตั้งงบฯการตลาดกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก เทียบเท่ากับงบฯตลาดของศูนย์การค้าสยามพารากอน แต่รูปแบบกิจกรรมและอีเวนต์จะแตกต่างกัน พร้อมกับยอมรับว่า การก่อสร้างเส้นทางทั้ง 2 ฝั่งถนนกระทบต่อการเดินทางมาจับจ่ายของลูกค้า เนื่องจากกว่า 85% ของลูกค้าพาราไดซ์ พาร์ค เป็นทาร์เก็ตเอ บี ที่มาศูนย์ด้วยรถส่วนตัว

หวั่นศูนย์การค้าแห่เปิด

ทั้งนี้ สถานการณ์การแข่งขันในธุรกิจศูนย์การค้าใหม่ ๆ เปิดตัวจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการรายเดิม ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ผันตัวมาจากนักพัฒนาที่ดิน เจ้าของที่ดิน และจากธุรกิจอื่น ๆ ทำให้

ผู้บริหารจากสยามพิวรรธน์วิตกว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2540

"ผู้ประกอบการบางรายเข้ามาธุรกิจนี้โดยไม่มีประสบการณ์ ไม่ได้มีงบประมาณการในช่วงศูนย์เปิดตัวไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการตลาด เพื่อดึงคนภายหลังศูนย์เปิด ต่างจากเราที่พิสูจน์ให้เห็น แม้ในช่วงที่มีปัญหาการเมือง ต้องหยุดให้บริการไป 2 เดือน แต่เราสามารถประคองตัว และฟื้นกลับมาใหม่ได้" นางชฎาทิพย์กล่าว

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails