Pages

Monday, May 30, 2011

CENTRAL ทุ่ม4.3หมื่นล.ผุด10สาขา รุกกทม./ตจว.ยกเครื่อง"บางนา"รับศึกใหญ่ค้าปลีก

นายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

"เซ็นทรัลพัฒนา" กางแผนลงทุน 4.3 หมื่นล้าน ภายใน 4 ปี รุกคืบเต็มทุกพื้นที่ เดินหน้าทยอยเปิดสาขาใหม่ "สวนลุม-เชียงใหม่ 2" เล็งปักธงอีก 10 แห่งที่ดีมานด์พร้อม กำลังซื้อทะลัก เตรียมลงทุน 1,000 ล้านเพิ่ม พื้นที่รีเทล "บางนา" 10,000 ตร.ม. ลดพื้นที่ส่วนกลางเสริมภาพลักษณ์ศูนย์ดูดี พร้อมปรับระบบเมอร์แชนไดส์แก้ปัญหาสาขาไม่เปรี้ยง


การปิดรีโนเวตของเซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้การเติบโตของเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ในปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับทุกปีที่ผ่าน ๆ มา เพราะช่วง 6 เดือนจากสาขาไฮไลต์ประเมินว่ารายได้หายไปราว 5-6% อย่างไรก็ตามภาพการลงทุนของซีพีเอ็นต่อจากนี้กลับยิ่งเข้มข้นและเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเป้าหมายการลงทุนในสาขาใหม่ ๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ นับจากปีนี้ถึงปี 2557 แผนการลงทุนของซีพีเอ็น มูลค่าสูงถึง 43,550 ล้านบาท

ทั้งนี้ เม็ดเงินลงทุนของกลุ่มซีพีเอ็นยังคงบาลานซ์ใน 3 สูตรหลัก คือ กระแสเงินหมุนเวียนในบริษัท การกู้สถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้ โดยปีนี้ซีพีเอ็นเตรียมทยอยออกหุ้นกู้ 4,500 ล้านบาท



กางแผนลงทุน 4 หมื่น ล.

นายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า การปิดปรับปรุงสาขาลาดพร้าวส่งผลกระทบการเติบโตของรายได้และผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ แต่เชื่อว่าปีหน้าจะมีทิศทางดีขึ้น รวมทั้งการทยอยเปิดสาขาใหม่ ๆ และเปิดเต็มของศูนย์เซ็นทรัลเวิลด์ และห้างสรรพสินค้าเซนจะเข้ามาสร้างรายได้เต็มที่ให้กับบริษัท เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บรายได้อัตราใหม่ที่จะเริ่มเข้ามาตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีนี้



หลังจากนี้ ซีพีเอ็นจะเดินหน้าลงทุนเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยวางงบฯการลงทุน 4 ปีนับจากนี้มูลค่า 43,550 ล้านบาท ไม่เพียงสาขาใหญ่อย่างเซ็นทรัลเชียงใหม่เฟส 2 ที่จะเปิดในปี พ.ศ. 2556 และเซ็นทรัล สวนลุม-ไนท์บาซาร์ ที่จะเปิดในโมเดล "มิกซ์ยูส" แต่ยังเตรียมลงทุนในสาขารอบนอกและต่างจังหวัดอีก 10 แห่ง ซึ่งล้วนเป็นตลาดที่มีอนาคต กำลังซื้อสูง มีไลฟ์สไตล์ และดีมานด์ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ

ทุ่มพัน ล.ปรับใหญ่บางนา

ผู้บริหารซีพีเอ็นกล่าวว่า บริษัทเตรียมลงทุน 1,000 ล้านบาท สำหรับปรับเซ็นทรัลบางนาใหม่เพื่อรับมือการแข่งขันของศูนย์การค้ากรุงเทพฯฝั่งตะวันออก และตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ของกลุ่มลูกค้า โดยเซ็นทรัลมีที่ดินเหลือประมาณ 8 ไร่ด้านหลังของศูนย์บางนา และเตรียมจะนำมาพัฒนาเป็นอาคารจอดรถและปรับพื้นที่ลานจอดรถเดิมเป็นพื้นที่ขายสำหรับร้านค้าที่ต้องการเข้ามาเปิด

นอกจากนี้ ในส่วนของพื้นที่ 8 ไร่ นอกจากเป็นอาคารจอดรถใหม่แล้วนั้น ยังมีพื้นที่สำหรับดึงร้านค้าขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาเป็นแม็กเนตเสริม ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา คาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดเต็มรูปแบบปลายปีหน้า และจะแบ่งเป็นการลงทุน 2 ช่วง คือ เริ่มในปีนี้ 500 ล้านบาท และปีหน้าอีก 500 ล้านบาท

"เรามั่นใจในความเป็นวันสต็อปช็อปปิ้ง ที่ตอบสนองความต้องการของทาร์เก็ตตั้งแต่ระดับกลาง-บน ตลอดย่านนี้ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีพาราไดส์พาร์คมาเปิดหรือเมกะบางนาที่เตรียมจะเปิดช่วงแรกลูกค้าอาจขาดหายไปบ้างเป็นธรรมดา แต่สุดท้ายลูกค้าก็กลับมาที่เรา"

เดินหน้าเพิ่มพื้นที่รีเทล

ทั้งนี้ การลงทุนครั้งใหญ่ในสาขาบางนาจะเพิ่มพื้นที่ขายให้กับศูนย์อีก 1 หมื่น ตร.ม. ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของบริษัทที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ศูนย์เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ควบคู่กับการจัดวางแปลนพื้นที่ภายในศูนย์ใหม่ให้น่าเดินและมีภาพลักษณ์ที่ดี นอกเหนือจากบางนาที่มีพื้นที่รีเทลเพิ่มแล้วนั้น การเปิดเซ็นทรัลลาดพร้าวในเดือนสิงหาคมนี้หลังรีโนเวตโฉมใหม่จะเพิ่มพื้นที่ขายอีก 5,000 ตร.ม.

เช่นเดียวกับการวางแปลนพื้นที่ภายในศูนย์ใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ศูนย์ให้ดูดีและทันสมัย ด้วยการทยอยลดพื้นที่ลานโปรโมชั่นซึ่งนอกจากทำให้ภาพของศูนย์ดูไม่ดีแล้ว ยังเป็นการบังหน้าร้านของช็อปต่าง ๆ ภายในศูนย์ ซึ่งการแก้ปัญหานี้แม้ว่า จะทำให้รายได้ของศูนย์จากค่าเช่า ลานโปรโมชั่นลดลงแต่ในระยะยาวภาพลักษณ์ที่ดีของศูนย์ ทราฟฟิกที่เข้ามามากขึ้น จะทำให้ศูนย์สามารถปรับราคาค่าเช่าได้มากขึ้นในอนาคต

ตีโจทย์ใหม่แก้สาขา "ไม่เปรี้ยง"

นายนริศกล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนสาขาที่เปิดไปแล้วแต่ที่ผ่านมาอาจเห็นว่าอัตราการเช่าพื้นที่ของร้านค้า หรือจำนวนทราฟฟิกที่ยังไม่มากพอโดยเฉพาะในสาขาต่างจังหวัดนั้น บริษัทได้เร่งปรับแก้ต่อเนื่อง และเริ่มเห็นผลไปในทิศทางที่เป็นบวก อาทิ ศูนย์เซ็นทรัลขอนแก่น พบว่าทราฟฟิกโตแต่อาจยังไม่สูงมากนัก รวมถึงเรื่องร้านค้าที่มีจำนวนร้านค้าขนาดเล็กมากเกินไปและส่วนใหญ่ขายสินค้าที่เหมือน ๆ กัน

ตอนแรกศูนย์กำหนดร้านเล็กไว้ 50 ร้านค้า แต่กระแสตอนแรกที่เปิดดีมานด์จากร้านค้าเหล่านี้เยอะมากทีมขายจึงปรับขึ้นมาเป็น 100 ร้านค้า จึงทำให้ไม่สามารถแข่งขันและสร้างจุดขายดึงตลาดได้ แต่ในส่วนของร้านขนาดใหญ่และแบรนด์ช็อปยังมียอดขายที่เติบโตต่อเนื่อง

"ปัญหาตรงนี้ทำให้บริษัทต้องปรับรูปแบบเมอร์แชนไดส์ใหม่ และนำมาปรับใช้ในส่วนของสาขาอื่น ๆ อย่างชลบุรี หรือแจ้งวัฒนะ ที่จำนวนทราฟฟิกและยอดขายร้านค้าดีขึ้นต่อเนื่อง" นายนริศกล่าว

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails