Image via Wikipedia
ค้าปลีกเชียงใหม่เดือดปลายปีคาร์ฟูร์ยึดพื้นที่อำเภอหางดงปักธงสาขาที่ 2 ชูโมเดลคอมมิวนิตี้มอลล์ เน้นการเติบโตร่วมกับเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นสาขาที่เน้นอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน เปิดตัวเป็นทางการ 19 ธ.ค.นี้
เชียงใหม่นับเป็นสมรภูมิการตลาดของยักษ์ค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) ที่ได้เข้ามาปักธงครบทุกค่ายก่อนจังหวัดใดๆ และมีการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ทุกค่ายลงทุนเปิด 2 สาขาเท่ากัน ทั้ง Tesco Lotus, Carrefour, Big C และ Makro
นายเสกสรร ไตรอุโฆษ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท เซ็นคาร์ จำกัด ผู้บริหารคาร์ฟูร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในวันที่ 19 ธ.ค.2551 คาร์ฟูร์จะเปิดตัวสาขาหางดง ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ของ จ.เชียงใหม่ บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ พื้นที่โครงการ 6,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ห่างจากตัว อ.หางดงไปทางทิศใต้ 3 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าสาขาแรก ใช้งบฯลงทุนประมาณ 150 ล้านบาท
การออกแบบสาขานี้มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม-พลังงาน มีที่จอดรถที่อยู่ใต้ร่มไม้ การก่อสร้างจะรักษาภูมิทัศน์เดิมให้มากที่สุดตามข้อเสนอแนะของทางจังหวัดและอำเภอหางดง คาดว่าต้นเดือน ธ.ค.นี้การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ ยังได้วางรูปแบบสาขาหางดงให้เป็นลักษณะคอมมิวนิตี้มอลล์ เน้นการเติบโตร่วมกับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยจะนำสินค้ามาจากซัพพลายเออร์ท้องถิ่นประมาณ 95% ทั้งงานหัตถกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการจ้างงานกว่า 150 คนก็จะใช้คนในท้องถิ่นเป็นหลัก
ซึ่งการขยายสาขาเพิ่มของคาร์ฟูร์ครั้งนี้มองว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจที่เติบโตสูงและมีแนวโน้มที่ดี แม้จะมีคู่แข่งมากในหลายระดับทั้งโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้า รวมถึงคอมมิวนิตี้มอลล์ของท้องถิ่น เช่น ริมปิง ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง และสะท้อนว่าเชียงใหม่มีผู้บริโภคที่มีรสนิยมที่ดี
สำหรับยอดขายโดยรวมของห้างคาร์ฟูร์ในปี 2551 มียอดขายเพิ่มขึ้น 12-15%
หากประเมินสถานการณ์ในปี 2552 คาดว่าจะมีความลำบากอันเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐและของโลก ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรง และทางอ้อมในด้านการท่องเที่ยวและการส่งออก ส่วนธุรกิจค้าปลีกค้าส่งนั้นกำลังซื้อในกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องไฟฟ้าก็คงจะลดลงแน่นอน สำหรับยอดขายของ จ.เชียงใหม่ในภาพรวมก็สอดคล้องกับการเติบโตระดับประเทศ
"ทางคาร์ฟูร์มีนโยบายชัดเจนที่ต้องการให้ชุมชน-ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งจะต้องเข้าใจถึงเป้าหมายว่าเราจะต้องให้เกิดการแข่งขันในตลาดให้สูงสุด เพราะมิเช่นนั้นก็จะเกิดการผูกขาดหรือ monopoly ในตลาด ซึ่งผลสุดท้ายก็จะทำให้รายเล็กอยู่รอดไม่ได้เพราะทำให้กลไกการแข่งขันไม่เกิดขึ้น และกรณีของการออก พ.ร.บ. ค้าปลีกค้าส่งก็เช่นกันที่ทางคาร์ฟูร์ก็ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างกลไกไม่ให้เกิดการผูกขาด รวมถึงต้องสร้างดุลกับซัพพลายเออร์ด้วย" นายเสกสรรกล่าว
ด้านนายสุรพล สัตยารักษ์ นายอำเภอหางดง เปิดเผยว่า ประชาชนในพื้นที่ อ.หางดง ไม่มีการคัดค้านโครงการลงทุน ดังกล่าว คาร์ฟูร์ได้มีการทำประชาพิจารณ์ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็ยอมรับและเห็นว่าจะส่งผลดีในเชิงเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ลงทุนก็พยายามเข้าถึงชุมชนในหลายๆ รูปแบบ โดยเฉพาะการส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมในท้องถิ่นจากผู้ผลิต รวมถึงการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่
No comments:
Post a Comment