Pages

Wednesday, June 13, 2012

ยุทธศาสตร์บุกร้านอาหารญี่ปุ่น ภายใต้เจนฯ 2 "เอส แอนด์ พี"


หาก จะพูดถึงอาหารที่ฮิตที่สุดในยุคนี้ ไม่มีใครปฏิเสธความร้อนแรงของ "อาหารญี่ปุ่น" ที่ปัจจุบันยึดครองห้างและศูนย์การค้าทุกแห่ง ด้วยปริมาณพื้นที่ที่มากที่สุดหากเทียบกับร้านอาหารทุกประเภทกับจำนวนแบรนด์ ที่หลากหลาย ครอบคลุมไปยังอาหารญี่ปุ่นทุกประเภท ด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ทุกปี

ไม่แปลกที่ตลาดนี้กลายเป็น ตลาดที่หอมหวนที่ใคร ๆ ก็อยากกระโดดลงมาด้วยกันทั้งสิ้น รวมถึงยักษ์ร้านอาหารไทย "เอส แอนด์ พี" ที่อยู่ในวงการร้านอาหารมานานกว่า 30 ปี กับปีนี้ถือเป็นการ "บิ๊กมูฟ" กับการเปิดธุรกิจใหม่กับ "ร้านอาหารญี่ปุ่น" อย่างจริงจัง โดยมอบหมายให้ "ธีรกรณ์ ไรวา" ผู้จัดการส่วนพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง

"ธีรกรณ์" หรือ "เจม" ทายาทตระกูลไรวา ผู้ก่อตั้งอาณาจักรร้านอาหารเอส แอนด์ พี ถือเป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ที่เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว หลังจากมีประสบการณ์ทำงานเป็น "เอ็นจิเนียร์ โปรแกรมเมอร์" อยู่ในญี่ปุ่นถึง 5 ปี ทำให้เขาสั่งสมประสบการณ์ ซึมซับวัฒนธรรมและรสชาติอาหารญี่ปุ่น ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่อยากทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น เข้ามาเสริมและต่อยอดธุรกิจของครอบครัว



"ผมทำอาหารไม่เป็น แต่เป็นนักชิม ชิมหมดทุกอย่าง เพราะถูกปลูกฝังให้ชอบกินมาตั้งแต่เด็ก การได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นกับโตเกียวที่เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมของ ญี่ปุ่นในแต่ละท้องถิ่นและจากประเทศ

อื่น ๆ มาอยู่ในที่เดียวกัน ยกตัวอย่าง กิมจิเกาหลี ที่มาดัดแปลงเป็นคอนเซ็ปต์ญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้รสชาติอาหารญี่ปุ่นที่โตเกียวมีความหลากหลายมาก"

สิ่งนี้เอง ก่อกำเนิดเป็นร้าน "โตเกียว โชคุโด" ซึ่งเจมใช้เวลาคัดสรรและรวบรวมอาหารหลากหลายประเภทที่เคยไปชิมตามร้านต่าง ๆ ในโตเกียว ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน

"ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ผมเคยไปทานแล้วผมชอบในรสชาติ ก็เก็บเกี่ยวแต่ละร้านมาเปิดที่นี่"

ร้าน โตเกียว โชคุโด เริ่มทดลองเปิดสาขาตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2554 ที่อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ สีลม เป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่เขาใช้เวลาในการศึกษาพัฒนาคอนเซ็ปต์ และรสชาติอาหารให้ถูกปากคนไทย รวมถึงปรับเปลี่ยนเมนูต่าง ๆ ไปตามความต้องการของลูกค้า

"เกือบ 1 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าเป็นการลองผิดลองถูก ตอนนี้ก็ยังต้องปรับไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น เรากำลังจะเพิ่มเมนูอาหารข้าวหน้าต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา เพราะพบว่าได้รับการตอบรับอย่างดี แล้วจะไปลดเมนูอื่น ๆ ที่ผลตอบรับอาจไม่ดีนัก"

"ธีรกรณ์" กล่าวอีกว่า จริง ๆ แล้ววิชั่นของเอส แอนด์ พี ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารที่ครอบคลุมในทุกประเภท ไม่เพียงแค่อาหารไทย แต่ยังหมายถึงไทย จีน ฝรั่ง ญี่ปุ่น ซึ่งการที่เราเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น ทำให้เรามีครบในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ที่สำคัญการเข้ามา เกาะกระแสธุรกิจที่กำลังเป็นเทรนด์ฮอตฮิตอย่าง "ร้านอาหารญี่ปุ่น" สำหรับเอส แอนด์ พี ที่ถือเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของวงการร้านอาหารแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น

แม้เขาจะยอมรับว่าจริง ๆ แล้ว การขยับครั้งนี้อาจจะดูช้าไปหน่อยก็ตาม

แต่ กระนั้นนอกจากเป็นการปรับตัวไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปแล้ว วันนี้ เอส แอนด์ พี ยังมอง "ร้านอาหารญี่ปุ่น" เป็นเสมือนยุทธศาสตร์ในการเติบโตครั้งใหม่

"บริษัท และผมตั้งเป้าไว้ว่าใน 5 ปีข้างหน้า แผนกร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนรายได้เป็น 1 ใน 10 ของรายได้รวมเอส แอนด์ พี นั่นหมายถึงยอดขาย 1 พันล้านบาท จากยอดรวมที่ 1 หมื่นล้านบาท"

และนั่นหมายถึงจำนวนแบรนด์ในพอร์ตร้านอาหารญี่ปุ่นที่ต้องมีมากขึ้น รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5 แบรนด์

"ปี นี้เราจะมีแบรนด์ใหม่ 1 แบรนด์ที่ซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่น ถือเป็นการซื้อแฟรนไชส์ครั้งแรกของกลุ่มเอส แอนด์ พี ก็ว่าได้ โดยจะเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนปีหน้าจะมีเพิ่มอีก 1 แบรนด์ ในรูปแบบการร่วมทุนกับร้านอาหารญี่ปุ่นรายใหญ่ เป็นการแลกเปลี่ยนแบรนด์กัน คือเรานำแบรนด์เขามาเปิดในไทย ส่วนเขาก็นำแบรนด์เอส แอนด์ พี ไปเปิดที่ญี่ปุ่น เป็นโมเดลคล้าย ๆ กับทางกลุ่มเอ็มเค ที่เอาเอ็มเคไปเปิดญี่ปุ่น แล้วนำแบรนด์ยาโยอิ มาเปิดในไทย"

"ธีรกรณ์" ชี้ว่า ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งแรกของเอส แอนด์ พี ที่จะเข้าไปเปิดสาขาในประเทศญี่ปุ่น โดยถึงเวลานั้นก็ต้องมีการปรับคอนเซ็ปต์อาหารให้เหมาะกับคนญี่ปุ่นด้วย

"สาเหตุ ที่เราเลือกจะซื้อแฟรนไชส์มากกว่าพัฒนาแบรนด์เองถือเป็นครั้งแรก จากเดิมกลุ่มเอส แอนด์ พี เน้นพัฒนาแบรนด์เองมาโดยตลอด แต่เพราะวันนี้ร้านอาหารญี่ปุ่นมีคู่แข่งเยอะมาก และมีการพัฒนาจากเฟสแรกที่คนญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศไทยเป็นคนทำธุรกิจนี้ ปัจจุบันเป็นยุคของตัวจริงจากญี่ปุ่นเข้ามาเอง และขณะนี้เรียกว่าตัวจริงทุกแบรนด์มาเกือบหมดแล้ว ทำให้การพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นเองจากนี้เป็นเรื่องที่ยากขึ้น เรื่อย ๆ สำหรับรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด"

นั่นทำให้แนวทางบุกร้านอาหารญี่ปุ่นของเอส แอนด์ พี จากนี้จะเน้นซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศเกือบทั้งหมด

แม้ ดูเหมือนจะเป็นการรุกครั้งใหญ่ แต่เขายังย้ำว่ากลุ่มเอส แอนด์ พี ยังคงคอนเซ็ปต์ดำเนินธุรกิจแบบ "คอนเซอร์เวทีฟ" คือค่อยเป็นค่อยไป ไม่ทำแบบเร่งรีบเพื่อป้องกันความเสี่ยง ทำให้ปีนี้จะมีการขยายสาขาของโตเกียว โชคุโด เพียง 1 สาขา ซึ่งจะปรับคอนเซ็ปต์ในหลาย ๆ ส่วนให้ตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น

"เราจะเปิดสาขาที่ 2 อีก 2-3 เดือนจากนี้ แต่จะเปลี่ยนไปเปิดในศูนย์การค้า เพราะที่แรกเราเปิดในอาคารสำนักงาน ทำให้เสาร์-อาทิตย์ไม่มีลูกค้า ครั้งนี้จึงถือโอกาสปรับหลายสิ่งเพื่อให้เป็นสาขาหลักของเรา ซึ่งก็จะคงไว้ที่ 2 สาขาก่อน"

แม้จะเป็นการรุกแบบคอนเซอร์เวทีฟ แต่ดูจากเป้าหมาย 1 พันล้านใน 5 ปี ก็ถือว่าไม่ธรรมดา

ยิ่งกับเครือยักษ์ใหญ่ที่พร้อมสรรพด้วยเงินทุน และโนว์ฮาวด้านร้านอาหาร

การขยับตัวของเอส แอนด์ พี ครั้งนี้ น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails