Pages

Thursday, June 24, 2010

เปิดคอนเซ็ปต์สโตร์ "IKEA" เมกะมอลล์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน


นับถอยหลังอีกประมาณ 1 ปี 5 เดือน ศูนย์จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง "อิเกีย" สาขาแรกในเมืองไทย ภายใต้ชื่อโครงการ "เมกะบางนา" บนที่ดิน 290 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราด ก็จะได้ฤกษ์เปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายน 2554

ตลาดเมืองไทย "IKANO" มาเอง

กล่าวสำหรับ "อิเกีย" ถือเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ชั้นนำจากประเทศสวีเดนก่อตั้งโดย "อิงวาร์ แคมพาร์ด" (Ingvar Kampard) โดยเริ่มเปิดสโตร์อิเกียสาขาแรกในสวีเดนเมื่อปี 1958 มีการเติบโตเป็นลำดับโดยตลาดเอเชียได้รุกคืบเข้ามาเปิดสโตร์สาขาแรกที่ฮ่องกงเมื่อปี 1975

ปัจจุบันมีสาขากว่า 300 แห่ง กระจายอยู่ใน 35 ประเทศทั่วโลก แน่นอนว่าฐานที่มั่นใหญ่คือโซนยุโรปที่มีจำนวนสาขารวมกันใน 25 ประเทศ ส่วนโซนเอเชีย-แปซิฟิกมีการปักหมุดสาขาที่ฮ่องกง ออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ยอดขาย เมื่อปี 2008 มีมูลค่า 22,000 ล้านยูโร

เพราะฉะนั้น การประกาศเข้ามาลงทุนเปิดสโตร์ในเมืองไทยจึงถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่คนในวงการ เฟอร์นิเจอร์ให้ความสนใจเป็นอย่างสูง เพราะเป็นรับรู้กันว่ากลยุทธ์ของอิเกียคือ เฟอร์นิเจอร์บ้านราคาประหยัด "IKEA is founded on a low price offer in home furnishings"
กลับมาดูเรื่องใกล้ตัว "เมกะบางนา" เกิดจากการร่วมทุนของ 3 บริษัทคือ "IKANO" บริษัทแฟมิลี่บิสเนสของตระกูลอิงวาร์ "สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์" หรือ SF ยักษ์ใหญ่วงการคอมมิวนิตี้มอลล์ และ "ส.ประภาศิลป์" ในฐานะซัพพลายเออร์หลักสัญชาติไทยที่ป้อนสินค้าให้กับ อิเกีย ทั้ง 3 บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49:49:2 ตามลำดับ เมกะดีลนี้ใช้วงเงินลงทุนรวม 13,000 ล้านบาท เป็นส่วนสโตร์อิเกียล้วน ๆ 3,000 ล้านบาท และคอมเพล็กซ์อีก 10,000 ล้านบาท

การลงทุนสโตร์อิเกียในระยะหลัง ทางบริษัทแม่ที่สวีเดนสะสมประสบการณ์ว่าที่ดินแปลงข้างเคียงมีการปรับราคาสูงขึ้น ดังนั้น จากเดิมที่เคยลงทุนแบบ "สแตนด์อะโลน" จึงกลายพันธุ์มาเป็นอิเกียสโตร์+คอมเพล็กซ์ เป็นคอนเซ็ปต์ที่มีกลิ่นอายการพัฒนาที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง

จุดขาย "อิเกียสไตล์"

สำหรับสโตร์อิเกียแห่งแรกที่บางนา ออกแบบก่อสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่รวม 40,000 ตารางเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติกรรมเคยชินของลูกค้าคนไทย สิ่งที่อิเกียเวิลด์ไวด์ "ไม่มี" ก็คือ 1.สินค้าน็อกดาวน์ ไม่มีบริการประกอบเฟอร์ฯให้ 2.ถ้าเป็นชิ้นใหญ่จะไม่มีบริการจัดส่ง เพราะอิเกียจะจัดหาบริการให้ลูกค้าเช่า รถแวนเพื่อบรรทุกสินค้ากลับบ้านในลักษณะเทกโฮมด้วยตัวเอง (ลูกค้าขนของและประกอบสินค้าที่บ้านเอง)

ยังไม่นับรวมเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือเรื่อง "เลย์เอาต์" ภายในสโตร์ โดยอิเกียสไตล์คือออกแบบทางเดินเป็น "วันเวย์" ไม่มีการเดินย้อนศร ชมสินค้าแล้วถ้าถูกใจให้หยิบมาเลยและมาจ่ายเงินทีเดียวบริเวณทางออก กรณีเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ให้จดรหัสสินค้ามาแจ้งที่เคาน์เตอร์จ่ายเงิน ทางห้างจะขนมาส่งมอบที่จุดจ่ายเงิน

ขณะเดียวกัน เฟอร์นิเจอร์ในสโตร์จะไม่มี "พนักงานขาย" หรือ PC ยืนประจำจุดคอยแนะนำสินค้า แต่ลูกค้าจะต้องทำความเข้าใจสินค้าผ่านเอกสารแนะนำประจำจุดแทน

ในความเป็น "อิเกียสไตล์" จะนำมาใช้ทั้งดุ้น 100% ในตลาดเมืองไทย หรือจะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับพฤติกรรมบริโภคคนไทย ก็คงจะต้องเป็นการบ้านของผู้ร่วมทุนอย่าง SF จะนำไปพิจารณา ซึ่งจะว่าไปก็เป็นเรื่องท้าทายดีเหมือนกัน

ตั้งเป้าดึงลูกค้าปีละ 40 ล้านคน

มีคำถามว่า อิเกียมีจุดแข็งตรงไหน คำตอบคงจะเป็นเรื่องสินค้าภายใต้แบรนด์ อิเกียจะมีหลากหลายนับหมื่นไอเทม ตั้งแต่ของชิ้นเล็กอย่างจานรองแก้ว โคมไฟ ไปจนถึงของชิ้นใหญ่อย่างชั้นวาง ตู้เสื้อผ้า โซฟา เฟอร์ฯ เอาต์ดอร์ จุดเด่นคือ ประโยชน์ใช้สอย ดีไซน์ และราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้

ว่ากันว่าเหตุผลที่อิเกียเลือกบางนาเป็นทำเลแรกในการปักธงซึ่งอยู่บริเวณวงแหวนรอบนอก ก็เพื่อรองรับรถเข้าออกเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ถูกนำมาใช้ในทุกประเทศ ดังนั้นอิเกียจึงไม่มีการเปิดสาขาใจกลางเมือง เป้าหมายคือเรียกลูกค้าเข้าห้างวันละ 120,000 คน/วัน หรือปีละ 40 ล้านคน

การเข้ามาของอิเกียไม่เพียงแต่เป็นที่จับตาของคนในวงการเฟอร์นิเจอร์แต่ยังมีปรากฏการณ์ของเว็บไซต์ www.ikeaclubthailand.com ซึ่งสะท้อนว่า แบรนด์ "อิเกีย" น่าจะมีแฟนคลับในเมืองไทยอยู่ไม่น้อยทีเดียว

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails