ปตท.ปรับกระบวนยุทธ์ลุยธุรกิจค้าปลีกน้ำมันใหม่ หลังประกาศถอนตัวซื้อห้างคาร์ฟูร์ เตรียมชงแผนลงทุน 5 ปี มูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท เสนอบอร์ดสิ้นปีนี้ ยกระดับปั๊มน้ำมันให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นใน 3 รูปแบบ หวังจะเพิ่มรายได้จากกิจการค้าปลีกขึ้นไประดับ 50% เทียบเท่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน แย้มลุยแก้สัญญากับเซเว่นอีเลฟเว่นใหม่ ซื้อแฟรนไชส์ทำเอง แทนการให้เช่าพื้นที่ในปั๊ม
นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจค้าปลีกน้ำมันว่า ขณะนี้กลุ่มธุรกิจน้ำมันของบมจ.ปตท.อยู่ระหว่างการทบทวนงบประมาณสำหรับการลงทุนธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในช่วง 5 ปี (2553-2557)ใหม่ หลังจากที่เคยแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้จำนวน 9,966 ล้านบาท
-พัฒนาปั๊มใหม่ชูคอนเซ็ปต์"พีทีที พาร์ก"
เนื่องจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่า หากชนะการประมูลซื้อห้างคาร์ฟูร์สำเร็จ จะเป็นการต่อยอดธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและกิจการค้าปลีกอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อต้องถอนการประมูลออกมา ทำให้ต้องปรับแผนการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันใหม่ ด้วยการยกระดับปั๊มให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นใน 3 รูปแบบ โดยจะปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันเก่าให้ทันสมัย ขณะเดียวกันจะมีการลงทุนสถานีบริการน้ำมันใหม่เพิ่มขึ้นในแนวคิดพีทีทีพาร์ก แพลทินัม และสถานีบริการน้ำมันมาตรฐาน ที่มีธุรกิจครบวงจรมากขึ้น โดยงบประมาณลงทุนในธุรกิจน้ำมันนี้คาดว่าจะนำเสนอให้คณะกรรมการบริหาร บมจ.ปตท.เห็นชอบภายในสิ้นปีนี้
แหล่งข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) กล่าวเสริมว่า แผนรุกตลาดน้ำมันของ บมจ.ปตท. ครั้งนี้งบประมาณส่วนใหญ่ที่ใช้จะอยู่ในส่วนของการดำเนินงานปรับปรุงภาพลักษณ์และการบริการสถานีบริการน้ำมันให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศภายใน 5 ปี จากจำนวนที่มีอยู่ 1,158 แห่ง และบางส่วนใช้สำหรับการตั้งสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องมีสถานีบริการน้ำมันที่เป็นรูปแบบพีทีที พาร์ก จำนวน 100 แห่ง เนื่องจากสถานีบริการในรูปแบบนี้ จะเป็นสถานีบริการขนาดใหญ่ รูปแบบทันสมัย มีบริเวณพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ มีสวนหย่อมขนาดใหญ่มากถึง 30 % ในพื้นที่ขนาด 5 ไร่ขึ้นไป พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันในรูปแบบของการให้บริการแบบ one stop service และยังสามารถใช้สถานที่เป็นจุดนัดพบและจุดพักผ่อน จากปัจจุบันที่มีประมาณ 23 แห่ง
-5ปีเปิดปั๊มแพลทินัมเพิ่ม300แห่ง
อีกทั้ง จะขยายและปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันในรูปแบบแพลทินัม ให้เพิ่มขึ้นเป็น 300 แห่ง ในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันมีอยู่ 30 แห่ง ซึ่งสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบนี้ จะมีขนาดเล็กลงมาจากรูปแบบพีทีที พาร์ก เล็กน้อย แต่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเหมือนกัน แต่อาจจะต่างกันตรงรูปแบบของร้านค้าภายในสถานีบริการน้ำมันบ้าง ขณะที่สถานีบริการรูปแบบสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันมาตรฐานของบมจ.ปตท.จะต้องมีการปรับปรุงภาพลักษณ์ทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปีเช่นกัน จากปัจจุบันที่ดำเนินการไปแล้วจำนวน 65 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบมจ.ปตท.ได้ดำเนินการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมันไปหลายรูปแบบจำนวนประมาณ 800 แห่ง เหลือสถานีบริการน้ำมันที่ยังไม่ได้ปรับปรุงหรือที่ยังไม่ได้ดำเนินการอีกประมาณ 400 แห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มี 200 แห่ง เป็นสถานีบริการน้ำมันที่ไม่ค่อยมีศักยภาพและเป็นสถานีบริการน้ำมันของลูกค้าที่ไม่ค่อยใส่ใจในการบริหารงาน โดยทางบมจ.ปตท.อยู่ระหว่างชั่งใจว่าจะให้ลูกค้าบริหารงานต่อไปหรือไม่ ถ้าลูกค้าไม่อยากดำเนินการต่อก็จะปิดสถานีบริการน้ำมันลง
"ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงปั๊มน้ำมันจนกลายมาเป็นปั๊มบมจ.ปตท.ที่เห็นทั่วไปแล้ว 800 แห่ง แต่เมื่อช่วงปลายปี 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการสรุปรูปแบบปั๊มน้ำมันออกมาใหม่ 3 รูปแบบดังกล่าว จึงมาเริ่มปรับปรุงภาพลักษณ์ปั๊มใหม่เมื่อตอนต้นปี 2553 โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้ได้ปีละ 100 แห่ง ใช้งบดำเนินงานประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทยอยเข้าดำเนินงานกับปั๊มน้ำมันที่ครบรอบ 5 ปี จากที่ปรับปรุงมาแล้ว"
-ใช้งบปรับปรุงพันล้าน/ปี
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนงบประมาณที่มีการทบทวนใหม่ในช่วง 5 ปีนั้น ขณะได้มีการพิจารณาไปแล้วกว่า 90 % ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ที่เป็นงบสำหรับปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันและการก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ด้วย โดยงบลงทุนในส่วนของสถานีบริการน้ำมันรูปแบบพีทีที พาร์กจะอยู่ประมาณ 50-60 ล้านบาทต่อแห่ง ไม่รวมค่าที่ดิน และรูปแบบแพลทินัมจะอยู่ที่ 30-40 ล้านบาทต่อแห่ง แต่อย่างไรก็ตามงบการลงทุนดังกล่าวนี้ เมื่อมีงบในภาพรวมออกมาแล้ว แต่การจะใช้จริงอาจจะต้องมีการพิจารณางบลงทุนเป็นรายปีไป เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
-ตั้งเป้าดันnon oil มีกำไรโต50%
ทั้งนี้ การที่บมจ.ปตท.ต้องการเน้นการปรับปรุงภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันเป็น 3 รูปแบบนี้ เนื่องจากบมจ.ปตท. ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรที่จะมาจากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน(non oil business) ให้ได้ประมาณ 50 ต่อ50 กับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันภายใน 5 ปี ข้างหน้านี้ จากปัจจุบันที่สัดส่วนของกำไรที่มาจากnon oil มีประมาณ 10 % ซึ่งถือเป็นรายได้ที่มีการเติบโตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้น้ำมันต่อหน่วย โดยเฉพาะการเน้นให้ทุกสถานีบริการน้ำมันจะต้องมีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในสิ้นปีนี้จะมีถึง 800 แห่ง และมีแผนที่จะเพิ่มขึ้น 100 แห่งต่อปี รวมถึงการขยายร้านกาแฟอะเมซอน เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ 17-18 ล้านแก้ว จากปัจจุบัน ที่มียอดขาย 15 ล้านแก้ว ในจำนวน 480 แห่ง
"แต่เดิมมีการมองไว้ว่า หากได้ห้างคาร์ฟูร์มา จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ non oil เป็นอย่างมาก และหวังว่าจะใช้คาร์ฟูร์ เป็นแบรนด์ร้านค้าสะดวกซื้อแทนเซเว่นอีเลฟเว่น แต่เมื่อต้องถอนการประมูล ก็จำเป็นต้องไปหารือใหม่ว่าจะใช้แบรนด์อะไรแทนระหว่างจิฟฟี่กับเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะจะหมดสัญญาในอีก 2 ปีข้างหน้า จาก 10 ปี ซึ่งหากมีการต่อสัญญา บมจ.ปตท.ก็จะหารือในแง่ของสัญญาใหม่เช่นกัน โดยจะซื้อแฟรนไชส์มาดำเนินการเอง แทนที่จะให้เซเว่นอีเลฟเว่นมาเช่าที่ในปั๊ม เพื่อให้รายได้ตกอยู่กับสถานีบริการมากยิ่งขึ้น"
ขณะเดียวกันการปรับปรุงภาพลักษณ์ใหม่ของสถานีบริการน้ำมันนี้ เป็นตัวชี้ให้เห็นว่ามีผลต่อยอดการจำหน่ายน้ำมันของบมจ.ปตท.จากปกติที่เป็นสถานีบริการน้ำมันทั่วไปจำหน่ายน้ำมันได้ไม่ถึง 300,000 ลิตรต่อเดือน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบสแตนดาร์ด แล้วยอดขายจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10-20 % ขณะที่สถานีบริการน้ำมันรูปแบบแพลทินัม จะมียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 600,000 ลิตรต่อเดือน ส่วนรูปแบบพีทีที พาร์ก ยอดขายจะเพิ่มขึ้นไปถึง 800,000 ลิตรต่อเดือน
ปัจจุบันสถานีบริการน้ำมัน บมจ.ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 35.1 % เพิ่มจากปีที่แล้ว ที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 34.5 %โดยมียอดขายเฉลี่ยน้ำมันเบนซินและดีเซล ปีนี้ประมาณ 758.2 ล้านลิตรต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มียอดเฉลี่ย 752.8 ล้านลิตรต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 0.7 %
No comments:
Post a Comment