Thursday, June 3, 2010
ลบภาพช้ำ ๆ "FUTURE PARK BANGKAE" "ซอโสตถิกุล" ปั้น "แลนด์มาร์ก" ฝั่งธนฯ
การขยายธุรกิจค้าปลีกด้วยโมเดลศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทำได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัดในเรื่องของการติดโซนนิ่งทางกฎหมายหรือการไล่
เก็บซื้อพื้นที่ผืนขนาดใหญ่พอที่จะลงทุนเป็นศูนย์การค้ายุทธศาสตร์ "เทกโอเวอร์-ควบรวมกิจการ" จึงเป็นสูตรที่กลุ่มทุนค้าปลีกใช้เป็นทางลัดสำหรับการขยายกิจการ
และพื้นที่กว่า 3 แสน ตร.ม. ของศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค กลายเป็นกลยุทธ์การเติบโตแบบก้าวกระโดดสำหรับการแข่งขันในตลาดค้าปลีกของกลุ่มตระกูล "ซอโสตถิกุล" ที่ก้าวข้ามจากศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ย่านศรีนครินทร์ สู่อีกฟากฝั่งมุมเมือง ด้วยงบฯลงทุนที่เดิมพันสูงถึง 2,500 ล้านบาท
ตลอด 14-15 ปีที่ผ่านมา ศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค ได้ก้าวผ่านความยากลำบากมาโดยตลอด ไม่ว่าจะด้วยปัญหาภายในโครงสร้างองค์กรเอง หรือแม้แต่การแข่งขันของธุรกิจรีเทลที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตลอดเวลา จากไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในตลาดที่ปรับเปลี่ยนไป
และจากคู่แข่งในพื้นที่ใกล้เคียงที่เป็นทางเลือก อาทิ เดอะมอลล์ ท่าพระ และเดอะมอลล์ บางแค ที่ประกบดักลูกค้าหัวท้ายตลอดเส้นถนนเพชรเกษม และท่าพระ รวมทั้งเซ็นทรัล พระราม 2 และเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ที่อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตร
"ฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค" จึงเติบโตอย่างยากลำบาก แม้ว่าแม็กเนตอย่างห้างสรรพสินค้าโรบิน สัน ไฮเปอร์มาร์เก็ต คาร์ฟูร์ ที่เข้ามาแทนที่ห้างสรรพสินค้าเยาฮัน และโรงหนังเครืออีจีวี จะปรับตัวเพิ่มกลยุทธ์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อดึงทราฟฟิกให้เข้ามา และวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ยิ่งเป็นเหมือนช่วงเติมเชื้อความยากลำบากมากยิ่งขึ้น "ฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค" เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการหลายต่อหลายรอบผ่านบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) แต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน เกิด "ดีล" กับตระกูลซอโสตถิกุล
"ตะติยะ ซอโสตถิกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เล่าที่มาที่ไปจนนำไปสู่โปรเจ็กต์ลงทุน 2,500 ล้านบาท เพื่อพลิกโฉม ฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค เป็น 2 ปี สำหรับ "ดีล" ที่ถือว่าเงียบมาก ไม่มีใครรู้เลย แม้กระทั่งทีมงานในซีคอนสแควร์ด้วยกันยังเพิ่งจะรู้ หลังจากให้ไปเก็บข้อมูลและเซอร์เวย์ตลาดสำหรับปรับโฉมศูนย์ใหม่นี้
และความเงียบของการเจรจานี้เอง ทำให้ไม่มีคู่แข่ง และซื้อได้ในราคาที่ "หัวเรือใหญ่" ซีคอนสแควร์มองว่าน่าพอใจ แม้ว่าจะไม่บอกตัวเลขกลม ๆ ก็ตาม
ด้วยมั่นใจในศักยภาพของทำเลและพื้นที่กว่า 3 แสน ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่รีเทล 1 แสน ตร.ม. และลานจอดรถรองรับถึง 4,000 คัน ยิ่งเมื่อบวกกับการขยายตัวของเมือง ความหนาแน่นของโครงการหมู่บ้านและความหนาแน่นของจำนวนประชากรกว่า 9.2 แสนคนในรอบรัศมี 10 กิโลเมตร รวมทั้งจากรายได้ต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่กำลังก่อสร้าง
ก้าวย่างครั้งนี้ จึงถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มซีคอนฯ ในธุรกิจค้าปลีก นับตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์การค้าซีคอนสแควร์มานานกว่า 14 ปี และเป็นครั้งแรกที่ก้าวข้ามมาถึงฝั่งธนฯ ที่แม้แต่ทีมงานยังกล่าวพร้อมเพรียงกันว่า "ใหม่และยังไม่คุ้นชิน"
ซีคอนสแควร์วางเป้าหมายโปรเจ็กต์น้องใหม่นี้ให้เป็น "แลนด์มาร์ก" ฝั่งธนบุรี ยกระดับให้เป็นศูนย์การค้าที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับคู่แข่งในย่านนี้ ซึ่งจะปิดศูนย์ในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ทันปิดโฉมใหม่ ภาพลักษณ์ใหม่ และชื่อใหม่ ในต้นปีหน้า
ควบคู่กับการเตรียมโปรเจ็กต์ใหม่ ในส่วนของศูนย์ซีคอนสแควร์ ด้วยพื้นที่โครงการกว่า 5 แสน ตร.ม.นั้นยังคงต้องปรับตัวต่อเนื่อง เพื่อรับการแข่งขันของตลาดในย่านศรีนครินทร์ที่ดุเดือด ทั้งจากคู่แข่งเดิมและคู่แข่งใหม่โดยเฉพาะ "พาราไดซ์พาร์ค" ซีคอนสแควร์วางงบฯ 556 ล้านบาท สำหรับการขยายกลุ่มลูกค้าไปที่ระดับบีมากขึ้น เพื่อเสริมจากกลุ่มแมสที่ยังคงเป็นฐานหลัก ครอบคลุมทั้งรีโนเวตพื้นที่ใหม่ภายในศูนย์ ขยายลานจอดรถรองรับทราฟฟิก และปรับลานด้านหน้าศูนย์ให้ทันสมัยและสวยงาม ซึ่งจะเริ่มในครึ่งปีหลัง
เมื่อก้าวข้ามขึ้นปี 2554 ความพร้อมของแม็กเนตทั้ง 2 ฟากฝั่งชานเมืองกรุงเทพฯที่กลุ่มทุน "ซอโสตถิกุล" เตรียมสร้างกระแสและเป็นสีสันให้กับวงการค้าปลีกจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เรียงกัน ไม่ว่าจะเป็น "ซีคอนสแควร์" ย่านศรีนครินทร์ และโฉมใหม่ "ฟิวเจอร์ พาร์ค บางแค" น้องใหม่ฝั่งธนบุรี
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment