Pages

Friday, October 8, 2010

พรีเมี่ยมเอาท์เล็ทยึดหัวหาดอุดรฯ ปีหน้าลุยต่อสาขา 7...บางปะอิน

"พีน่ากรุ๊ป" ไม่ใช่นักธุรกิจหน้าใหม่ที่มาทำตลาดสินค้าเครื่องแต่งกายในจังหวัดอุดรธานี เพราะก่อนหน้านี้เคยจับมือกับกลุ่มทุนท้องถิ่นทำการค้าแบบพันธมิตรกันมาแล้วด้วยพื้นที่ขายเริ่มต้นเพียง 100 ตารางเมตร ตั้งแต่สมัยห้างสรรพสินค้าเจริญศรีพลาซ่า ของตระกูลทีฆธนานนท์ จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นศูนย์การค้าเจริญศรีคอมเพล็กซ์ ก่อนจะเปลี่ยนมาอยู่ในมือกลุ่มเซ็นทรัลในปัจจุบัน

กระทั่งหันมาทำเอาท์เล็ทมอลล์ ภายใต้บริษัท เอาท์เล็ทมอลล์ จำกัด เป็นผู้บริหาร ธุรกิจแฟคทอรี่เอาท์เล็ท ระดับพรีเมี่ยม ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 5 สาขา นับแต่ปี 2545 ได้แก่เอาท์เล็ทมอลล์ พัทยา, พรีเมี่ยมเอาท์เล็ท ชะอำ, พรีเมี่ยมเอาท์เล็ท เขาใหญ่, พรีเมี่ยมเอาท์เล็ท พัทยา เฟส 2, พรีเมี่ยมเอาท์เล็ท กระบี่, พรีเมี่ยมเอาท์เล็ท ภูเก็ต

ล่าสุด (26 ก.ย. 53) เปิดสาขาที่ 6 พรีเมี่ยมเอาท์เล็ท อุดรธานี ใช้งบฯลงทุนกว่า 500 ล้านบาท บนเส้นทางบายพาส ระหว่างแยกไปขอนแก่น สกลนคร และหนองคาย ซึ่งถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจใหม่ของจังหวัด รายล้อมด้วยธุรกิจกลุ่มโมเดิร์นเทรด ทั้งอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์, โฮมโปร, คาร์ฟูร์, บิ๊กซี และเทสโก้ โลตัส



"นายสุพจน์ ตันติจิรสกุล" ประธานกลุ่มบริษัท พีน่าเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการตัดสินใจมาปักธงที่ จ.อุดรธานี ว่า ไม่ได้ตัดสินใจเพียงคนเดียว แต่พันธมิตร หรือคู่ค้าจะรู้ มีข้อมูลการค้า ซึ่งส่วนตัว มองว่า กระแสของอุดรฯ คงมองข้ามไม่ได้ มีความเป็น International อยู่แล้ว เพราะมีคนยุโรป มีคนต่างชาติมาอยู่ในประวัติศาสตร์อันยาวนาน คนอุดรฯก็มีความรู้มากขึ้น ที่สำคัญ ประชากรของอุดรฯเป็นคนที่มีรายได้ค่อนข้างดี มองจากเศรษฐกิจภาพรวม ถ้าเทียบหัวเมืองใหญ่ เช่น อุดรฯกับเชียงใหม่ อัตราการบริโภคของเชียงใหม่สู้อุดรฯไม่ได้

"ปัจจุบันไม่ได้หยุดมองแค่คนต่างชาติเท่านั้น เรามีความมั่นใจว่า ความเป็น Outlet concept ขายให้กับคนไทยได้ โดยเฉพาะคนไทยที่มาสัมผัสแล้วรู้สึกพึงพอใจ ด้วยราคาสินค้า หรือด้วยผลิตภัณฑ์สินค้าที่เป็นมาตรฐาน"

สุพจน์ได้ขยายความถึงข้อแตกต่างกันระหว่าง Premium Outlet, Outlet Mall หรือ Outlet Village ว่า มีบุคลิกที่ แตกต่างกัน ซึ่งทั้ง 3 ชื่อได้ผ่านการจดทะเบียนทั้งหมด ภายใต้โลโก้เดียวกัน เช่น เอาท์เล็ทมอลล์ที่พัทยา จะบอกว่าเป็น Outlet Village ก็ไม่ได้ แต่ระยะหลัง เราสามารถพัฒนาจนแบรนด์พันธมิตรแข็งแรง เราจึงสามารถใช้คำว่า "Premium" ได้ เช่นเดียวกับที่อุดรฯมีกลิ่นอายของ International อาจจะทำให้ลูกค้ากลัวด้วย อาจมีผลทางลบ อย่าง Outlet Village สร้างขึ้นมาคล้าย ๆ หมู่บ้าน ในภาคอีสาน

คาดการณ์ว่า ปีแรก สาขาอุดรธานี น่าจะมียอดขายรวมประมาณ 300 ล้านบาท ส่วนในปี 2552 มียอดขายรวมทั้ง 5 สาขา จำนวน 1,800 ล้านบาท

สำหรับสาขาต่อไปที่กำลังเตรียมตัวอยู่ คือสาขาบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ปากทางถนนเอเชีย ขาเข้ากรุงเทพฯ ตั้งอยู่ ก.ม.55 เนื้อที่ 45 ไร่ มีพื้นที่ขาย 17,000 ตารางเมตร ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้ออกแบบ เสร็จหมดแล้ว คาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างประมาณปลายปี 2553 สามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2555 โดยใช้ชื่อพรีเมี่ยมเอาท์เล็ท ซึ่งพระนครศรีอยุธยามีพื้นฐานส่วนหนึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่เป็นวันเดย์ทริป เชื่อว่าเป็นโลเกชั่นที่ดี

"พิเชฐ พงพิทักษ์เมธา" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอาท์เล็ทมอลล์ จำกัด เปิดเผยว่า สาขาอุดรธานีเป็นแห่งแรกที่ก่อสร้างในรูปแบบเป็น 2 ชั้น รวมมูลค่าการลงทุนรวมที่ดิน 500 ล้านบาท บนที่ดิน 12 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยร้านค้าชั้นนำ 80 ร้านค้า รวมทั้งสิ้น 300 แบรนด์ แบ่งสัดส่วนเป็นอินเตอร์แบรนด์ 60% และโคคอลแบรนด์ 40%

การเปิดสาขาเขาใหญ่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของการมองตลาดอีสานเหนือ เนื่องจากพบว่ามีลูกค้าที่มีทะเบียนรถอุดรธานี, หนองคาย, บุรีรัมย์, สุรินทร์ เข้าไปซื้อสินค้าจำนวนมาก การเลือกปักธงที่อุดรธานี เพราะเป็นจังหวัดรายล้อมหลายจังหวัด รวมถึงมีลูกค้า สปป.ลาว เข้ามาช็อปปิ้งจำนวนมาก จึงตัดสินใจเลือก โลเกชั่นถนนบายพาส ซึ่งเป็นถนนเศรษฐกิจของอุดรธานี

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails