จดปากกาเซ็นสัญญาซื้อกิจการระหว่างบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กับ คาร์ฟูร์ สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการค้าปลีกเมืองไทย ไปเมื่อวันก่อน (15 พ.ย. 2553) ด้วยมูลค่า 868 ล้านยูโร โดยมูลค่านี้เทียบเป็น 120% ของยอดขายสุทธิและเป็น 13.0 X EBITDA สูงกว่าที่นักการตลาดหลายคนประมาณการไว้
"คาสิโน กรุ๊ป" ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกจากประเทศฝรั่งเศส และผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดเป็นธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 2 ในประเทศไทย แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในตัวเก็งประกบคู่กับ "เบอร์ลี่ยุคเกอร์" คอนซูเมอร์ยักษ์ใหญ่ในเครือของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเบียร์ช้าง
ล่าสุดการประกาศซื้อกิจการคาร์ฟูร์ ด้วยเม็ดเงิน 35,500 ล้านบาท จะส่งผลให้บิ๊กซีมีสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตเขยิบขึ้นมาเป็น 103 สาขา (ปัจจุบันบิ๊กซีมีไฮเปอร์มาร์เก็ต 69 แห่ง และคาร์ฟูร์มี 34 แห่ง) ไล่บี้จี้ติดเทสโก้ โลตัส แบรนด์ไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 ในเมืองไทย ที่มีอยู่ 116 สาขา ซึ่งแน่นอนว่าช่องว่างของการแข่งขันย่อมลดลง จากที่ตลาดเมืองไทยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 3 ราย
เพราะการขยายสาขาใหม่ของบิ๊กซี โดยเฉพาะในฟอร์แมตไฮเปอร์มาร์เก็ตในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาทำได้ยาก เนื่องจากกฎหมายผังเมือง ขณะที่เทสโก้ โลตัส ปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว โดยใช้แผนการเข้าซื้อกิจการของผู้ประกอบการดั้งเดิมแทน การซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ จึงเปรียบเหมือนเส้นทางลัดที่ทำให้บิ๊กซี มีสาขาขนาดใหญ่เกิดขึ้นทีเดียว 34 แห่ง ครอบคลุมทำเลทองที่บิ๊กซีขาดหาย
"บิ๊กซี มียอดขายสุทธิ 1.7 พันล้านยูโร ขณะที่คาร์ฟูร์มียอดขายสุทธิ 723 ล้านยูโร เมื่อทั้งสองรวมกันย่อมเสริมให้บิ๊กซีมีศักยภาพมากขึ้น และเพิ่มความแข็งแกร่งจากฐานลูกค้าคาร์ฟูร์ที่มีอยู่" รายงานข่าวจากคาสิโน กรุ๊ป ระบุ
ดังนั้นเมื่อรวมกิจการเข้าด้วยกันคาดว่าจะมีรายได้รวมถึง 100,000 ล้านบาทสำหรับปีนี้ ทำให้บิ๊กซีมีสาขาในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้นเท่าตัว และตอกย้ำการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกต่างส่งสัญญาณในเชิงบวก เมื่อดีลนี้ปิดฉากลง โดยเฉพาะเรื่องของการแข่งขันในไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่แม้จะรุนแรงมากขึ้น และอำนาจการต่อรองของซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่าด้วยกลไกตลาดจะสามารถควบคุม และทำให้ผลประโยชน์ต่างๆเกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้มากขึ้น จากการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย
"การควบรวมกิจการครั้งนี้ทำให้เกิดการซินเนอยีมากขึ้น"
"อย่างไรก็ดีด้วยเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน คือ เทสโก้ โลตัส ที่มุ่งเน้นไปที่เอ็กซ์เพรสเป็นหลัก ขณะที่บิ๊กซี ซึ่งเน้นไฮเปอร์มาร์เก็ต จะทำให้ทั้งสองต่างเดินหน้าธุรกิจไปได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องรอดูทิศทางหรือนโยบายใหม่ที่อาจเกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการ" แหล่งข่าวกล่าว
สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าจะได้เห็นมากขึ้น คือ การแข่งขันด้านราคา ที่เดิมต่างฝ่ายใช้เรื่องของ "Price" เป็นจุดขาย เมื่อเหลือผู้ประกอบการเพียงแค่ 2 ราย แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมา คือ "Price War" ที่ต่างต้องสร้างจุดแข็ง ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านราคา เพื่อสร้างความความเชื่อมั่นและความจงรักภักดีให้กับผู้บริโภค
"ชฎาทิพ จูตระกูล" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามเซ็นเตอร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การที่คาสิโน กรุ๊ป เข้าซื้อกิจการห้างคาร์ฟูร์ในประเทศไทย เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศไทยยังอยู่ในทิศทางที่ดี เพราะการลงทุนครั้งนี้ต้องใช้เม็ดเงินหลักหมื่นล้านบาท ส่วนเรื่องของการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นนั้น มองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับผู้บริโภค เพราะทุกครั้งที่มีการแข่งขันกันในเรื่องของราคาสินค้าผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ การปิดดีลครั้งนี้ เชื่อว่าสร้างความผิดหวังให้กับยักษ์คอนซูเมอร์อย่าง "เบอร์ลี่ยุคเกอร์" (BJC) ที่ต้องการสร้างเครือข่ายต่อยอดธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก ที่จะมาเชื่อมโยงให้ทุกอุตสาหกรรมเข้าถึงกัน ซึ่งแม้ช่วงต้น BJC จะเป็นตัวเต็งที่จะคว้าดีลนี้ แต่เชื่อว่า BJC จะไม่หยุดยั้งที่จะสร้างอาณาจักรให้แข็งแกร่งกว่าเดิม
ส่วนเทสโก้ โลตัส เอง แม้การร่วมประมูลในครั้งนี้จะถูกคัดออกในรอบแรก แต่เทสโก้ โลตัส ก็แสดงตัวอย่างชัดเจนว่า หากมีช่องว่างหรือโอกาสในการขยายรูปแบบการลงทุนไม่ว่าในรูปแบบใด เทสโก้ โลตัส ก็พร้อมดำเนินการทันทีเช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทสโก้ โลตัส มีความพร้อมและต้องการมุ่งขยายเครือข่ายในประเทศไทยไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบค้าปลีกหรือการดำเนินการธุรกิจอื่น ที่ปัจจุบันมีทั้งธุรกิจประกันภัย ธุรกิจรับชำระค่าสินค้าและบริการ ฯลฯ
สำหรับ คาร์ฟูร์เริ่มเข้ามาก่อตั้งกิจการค้าปลีกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2539 ส่งผลให้ปัจจุบันนี้มีสาขาทั้งสิ้นจำนวน 42 สาขา เน้นทำตลาดการเป็นกลุ่มผู้ค้าอาหารประเภทโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 6% เส้นทางของคาร์ฟูร์ จะเป็นอย่างไรคงต้องจับตามองต่อไป แม้ตอนนี้คาร์ฟูร์เอสเอ จะเชื่อมั่นว่าการขายกิจการในประเทศไทย จะเป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์ของห้างคาร์ฟูร์ ที่มุ่งมั่นต่อการก้าวสู่การเป็นผู้นำ เพราะที่ผ่านมาการทำตลาดในประเทศไทยยังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนทั้งในระยะกลางและระยะยาว ว่าจะทำให้คาร์ฟูร์ก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้
No comments:
Post a Comment