ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |
จากกรณีที่"ฐานเศรษฐกิจ" พาดหัวข่าว "ปตท.เล็งคาร์ฟูร์ลุยค้าปลีก" ตีพิมพ์ลงในฉบับ2,554 ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม ปี2553 หลังจากที่มีการเปิดศึกชิงดำกิจการคาร์ฟูร์ในไทยโดยมียักษ์ด้านพลังงานอย่างปตท.โดดร่วมวงแข่งกับโลตัส-บิ๊กซีและเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ด้วยนั้น
ล่าสุดยังเป็นข้อสงสัยของทุกฝ่าย กรณีที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการสั่งให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(บมจ.) ยุติการประมูลเข้าซื้อกิจการของห้างคาร์ฟูร์ โดยอ้างเหตุผล ผิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ควรจะเข้าไปทำธุรกิจแข่งกับภาคเอกชน
สอดรับกับคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาระบุว่า มีเอกชนแสดงความกังวลว่า บมจ.ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐจะเข้ามาแข่งขันกับบริษัทเอกชนในกิจการทุกด้านเลยหรือ
ต่อเรื่องนี้ทางนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ออกมายืนยันว่า การตัดสินใจยกเลิกเข้าประมูลครั้งนี้ มีความคิดเห็นมาจากหลายฝ่าย ที่เห็นว่าไม่ควรเข้าร่วมประมูล ซึ่งบมจ.ก็รับฟังและนำมาตัดสินใจ
จากเหตุผลของแต่ละฝ่ายที่นำมาเป็นเหตุผล ซึ่งการยกเลิกประมูลครั้งนี้ หากนำมาประมวลดูแล้ว จะเห็นได้ว่าข้ออ้างของการไม่ให้รัฐวิสาหกิจเข้าแข่งขันกับภาคเอกชนคงจะฟังไม่ขึ้น เพราะเมื่อธุรกิจน้ำมัน
ที่บมจ.ปตท.ดำเนินการอยู่เวลานี้ก็แข่งขันกับภาคเอกชนหลายรายอยู่แล้ว แต่มีการตั้งคำถามว่า...ทำไมจึงไม่ถูกยับยั้ง
ส่วนการที่นายประเสริฐ ออกมาบอกว่ารับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย อยากถามกลับว่าฝ่ายหนึ่งที่ว่านั้น มาจากนายกรัฐมนตรีหรือคนในพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่ เพราะเป็นเหตุผลที่สอดรับกับคำกล่าวของนายอภิสิทธิ์ ที่ระบุว่า"เอกชน"เขาแสดงความกังวลต่อการเข้าประมูลของบมจ.ปตท.ในการเข้าซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ ซึ่ง"เอกชน"ที่ว่านั้น ถูกตั้งคำถามว่า เป็นนายทุนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ฯ ใช่หรือไม่
หากเป็นเช่นนั้นจริง เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีเหตุผลอะไร ที่จะทำเช่นนั้น ปัจจัยหนึ่งมาจากเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อยากได้คาร์ฟูร์จริงๆ เพื่อมาต่อยอดธุรกิจ เพราะตัวเองยังไม่มีไฮเปอร์มาร์เก็ต เป็นเพียงผู้ผลิตและตัวแทนจัดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น หากได้คาร์ฟูร์มา ก็จะทำให้การทำธุรกิจครบวงจรมากขึ้นมีจุดวางจำหน่ายสินค้าของตัวเอง
เช่นกันกับบมจ.ปตท. เองที่เดิมทีประกาศเจตนารมณ์ต้องการได้คาร์ฟูร์มาต่อยอดธุรกิจของตัวเองเช่นกัน โดยผ่านบริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด หรือพีทีทีอาร์เอ็ม ที่ประสบความเร็จจากการบริหารธุรกิจค้าปลีก จากการซื้อกิจการมาจากบริษัท โคโนโค่ฯ ภายใต้ร้านค้าสะดวกซื้อ"จิฟฟี่"
ที่สำคัญ บมจ.ปตท. ได้มีการศึกษาแนวโน้มการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย พบว่าการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเพียงอย่างเดียวมีแนวโน้มลดลง และเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นการจัดตั้งสถานีบริการน้ำมันควบคู่ไปกับธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน
ขณะที่สถานที่ตั้งของห้างคาร์ฟูร์ จำนวน 43 แห่งในประเทศที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นบริเวณที่บมจ.ปตท.มีปั๊มน้ำมันอยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการกับประชาชน จึงเป็นโอกาสที่บมจ.ปตท.จะได้ขยายเครือข่ายปั๊มน้ำมันให้ครอบคลุมมากขึ้น และสามารถเป็นช่องทางการขยายการจำหน่ายสินค้า และบริการของบมจ.ปตท.เพื่อให้บริการลูกค้าได้หลากหลายขึ้น
ดังนั้นเมื่อประเมินประเด็นกรณีที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ถูกหาว่าใช้กำลังภายในโดยผ่านเส้นสายทางการเมืองมาบีบให้บมจ.ปตท.ถอนการประมูลในการซื้อกิจการห้างคาร์ฟูร์ครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการกำจัดคู่แข่งขันตั้งแต่ต้นทาง ก็ด้วยเพราะว่าการแข่งขันครั้งนี้ คงไม่มีใครยอมใคร เห็นได้จากการเปิดซองราคารอบแรกมีผู้ผ่านเข้ารอง 4 บริษัท ซึ่งเบอร์ลี่ ยุคเกอร์เสนอราคามาสูงสุดที่ 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีพีทีทีอาร์เอ็ม เสนอมาเป็นลำดับ 2 โดยทางคาร์ฟูร์ จะเปิดให้ผู้ที่ผ่านมาเข้ารอบทำการยื่นเสนอราคาและแผนบริหารกิจการอีกครั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2553
นั่นหมายความว่า ราคาที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เสนอไป จะต้องถูกพีทีทีอาร์เอ็ม เสนอราคาแข่งขึ้นไปอีก จากการไล่เสนอราคาแข่งขันกัน ซึ่งจะส่งผลให้การประมูลครั้งนี้มีมูลค่าสูงขึ้นไปมาก จากที่มีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของคาร์ฟูร์ในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมีการยืนยันจากนายประเสริฐแล้วว่า การเปิดราคาประมูลครั้งแรกเป็นเพียงการเดินสายเปิดตัวผู้แข่งขันเท่านั้น และคิดว่าการประมูลจะยังไม่มีการจบอยู่ที่รอบ 2 เท่านั้น แต่จะยังมีรอบ 3 ตามมาอีก ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่า ราคาที่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์เสนอมานั้น บมจ.ปตท.ก็พร้อมที่จะสู้เสนอราคาแข่ง
เมื่อโดนสกัดมาจากทางการเมือง บมจ.ปตท.ก็พร้อมที่จะถอยให้ เพราะบมจ.ปตท.เอง ไม่เสียประโยชน์หรือเสียหายในการทำธุรกิจแต่อย่างใด เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่ บมจ.ปตท.ทำธุรกิจหลักด้านพลังงาน มีกำไรรวมจากทั้งกลุ่มเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี การที่ถูกเบรกเข้าซื้อกิจการ ก็ไม่ได้ทำให้มูลค่าหุ้นในตลาดลดลงแต่อย่างใด
แต่ที่น่าเจ็บใจมากที่สุด คงจะเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาล ตกลงแล้วรัฐวิสาหกิจมีสิทธิ์เข้าไปแข่งขันกับภาคเอกชนได้หรือไม่
เพราะเวลานี้รัฐวิสาหกิจได้เข้าไปแข่งขันกับภาคเอกชนแทบจะทุกธุรกิจ การมากล่าวอ้างเช่นนี้ หากมีใครหยิบยกข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญมาดู และมีการตีความกันเกิดขึ้น เรื่องการประมูลคาร์ฟูร์ อาจจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการใช้เป็นข้ออ้างอิงในการเลือกปฏิบัติได้
No comments:
Post a Comment