Pages

Friday, February 25, 2011

TMB ทุ่มสุดตัวชิงดีล BIG C ซื้อ CARREFOUR "กุญแจ" สู่กลยุทธ์บุกซัพพลายเชน


นับเป็นดีลใหญ่เขย่าวงการธนาคารไทยไม่น้อยทีเดียว สำหรับธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่คว้าดีลปล่อยสินเชื่อมูลค่า 38,500 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มคาสิโนจากฝรั่งเศส เพื่อใช้ซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ในประเทศไทยทั้งหมด

เบื้องหลังความสำเร็จของดีลนี้ "ปิติ ตัณฑเกษม" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจขนาดใหญ่ และ ศักดา พงศ์เจริญยง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย บอกว่า แม้จะใช้เวลาในการทำดีลทั้งหมดเพียง 2-3 สัปดาห์ ซึ่งถือว่าสั้นมากสำหรับดีลที่มีวงเงินสินเชื่อใหญ่ขนาดนี้ แต่ก็ยอมรับว่า กว่าจะได้ดีลนี้มานั้น "ไม่ง่าย"

ปิติบอกว่า ตอนแรกกลุ่มคาสิโนมีข้อเสนอจากแบงก์ต่างชาติรายหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยราคาซื้อขายกิจการเกินกว่าที่คาดการณ์ ภายใต้ข้อเสนอของวงเงินสินเชื่อมากพอสมควร ในตอนต้นกลุ่มคาสิโนจึงต้องการหาธนาคารเข้ามาปล่อยสินเชื่อในวงเงินส่วนที่ยังขาดอยู่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูโจทย์ความต้องการสินเชื่อแล้ว สินเชื่อที่เป็นเงินบาทน่าจะทำให้กลุ่มคาสิโนได้ประโยชน์มากกว่า ด้วยโครงสร้างการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของบิ๊กซีในไทยย่อมมีรายรับเป็นเงินบาท สินเชื่อที่เป็นสกุลเดียวกันจึงเท่ากับปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไปในตัวอยู่แล้ว ดังนั้น แทนที่จะเสนอสินเชื่อเฉพาะส่วนที่เพิ่มเติม TMB-KTB จึงอาศัยจังหวะนี้พลิกสถานการณ์ "ร่วมชิง" ดีลนี้ทั้งโปรเจ็กต์ด้วยสินเชื่อเป็นเงินบาททั้งหมด



"ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะทางกลุ่มคาสิโนก็ต้องรีบจ่ายเงินให้กับกลุ่มคาร์ฟูร์ในต้นปี 2554 มีเวลาทำงานเพียง 2-3 สัปดาห์ รวมถึงต้องสู้กับคู่แข่งซึ่งเป็นแบงก์ต่างชาติ มีปัจจัยเงื่อนไขเรื่องระบบและกฎเกณฑ์ทางบัญชีที่แตกต่างกัน เวลาการทำงานก็ต่างกัน ทีมของเราก็ต้องดีลงานถึงเที่ยงคืนทุกวัน นับเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนในทีมทำงานหนักมาก ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า เรามีพันธมิตรที่ดีมากอย่างธนาคารกรุงไทย ทำให้ในที่สุดแล้ว TMB-KTB ก็ชนะดีลนี้"

สำหรับรูปแบบของสินเชื่อมูลค่า 38,500 ล้านบาท อายุประมาณ 3-5 ปี ที่คว้าดีลนี้มาได้นั้น ปิติอธิบายว่า จุดเด่นจะอยู่ที่ความยืดหยุ่นในเทอมของการชำระและลดความเสี่ยงในการจัดหาเงินกู้ระยะยาว โดยสินเชื่อนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนแรกเป็น Bridge Loan (เงินกู้ยืมที่ใช้แก้ปัญหาในระยะสั้น) ซึ่งเป็นเงินก้อนสำหรับให้กลุ่มคาสิโนจ่ายให้แก่กลุ่มคาร์ฟูร์เพื่อซื้อกิจการ

หลังจากนั้นทาง "บิ๊กซี" ก็จะต้องจัดโครงสร้างธุรกิจของ "คาร์ฟูร์" ให้สอดรับและเป็น "หน้าตา" เดียวกันกับนโยบายของ "บิ๊กซี" จึงต้องมีวงเงินสินเชื่อระยะ 12-18 เดือน เตรียมไว้รองรับในช่วงนี้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่นมากที่สุด

"ดีลนี้ถือว่าเป็นดีลที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า "ดีที่สุด" ในรอบหลาย ๆ ปีของการทำงาน เพราะต้องใช้ทักษะหลายด้าน จริง ๆ ต้องชนกับแบงก์ต่างชาติ และมีเงื่อนไขเวลามาบีบอีกชั้นหนึ่ง ความสำเร็จในดีลนี้จึงตอกย้ำคุณภาพและมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากลให้กับธุรกิจธนาคารในไทยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้แต่ดีลซื้อขายกิจการระดับข้ามชาติเราก็ทำสำเร็จมาแล้ว"

นอกจากมูลค่าสินเชื่อเกือบ 4 หมื่นล้านบาทแล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้ TMB ยอมสู้ไม่ถอยในดีลนี้ยังอยู่ที่ความเป็น "ธุรกิจค้าปลีก" อีกด้วย ปิติบอกว่า ธุรกิจนี้กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกำลังขยายตัวมากในพื้นที่ต่างจังหวัด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ห้างค้าปลีกเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ "ไลฟ์สไตล์" คนไทยเรียบร้อยแล้ว

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มูลค่าธุรกิจค้าปลีกในปี 2553 มีสัดส่วนถึง 13% ของจีดีพี รวมถึงยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต เพราะไทยมีประชากรเยอะถึง 65 ล้านคน มีรายได้ดี และปริมาณพื้นที่ค้าปลีกต่อประชากรยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยิ่งทำให้ธุรกิจนี้ "น่าสนใจ" มากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น ในมุมมองของ TMB ธุรกิจค้าปลีกยังหมายถึง การมีธุรกิจต่อเนื่องไปอีกนับแสนราย..!! จึงยิ่งสอดคล้องกับนโยบายของ TMB ที่ต้องการ "เจาะ" ตลาดธุรกิจที่สามารถ "ต่อยอด" ไปสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำจดปลายน้ำของสายธุรกิจนั้น หรือที่เรียกว่า โมเดล "Supply Chain"

"ภายใต้โครงสร้างการทำงานในปัจจุบันเรามีระบบงานพร้อมเข้าไปต่อยอดสายธุรกิจเหล่านี้ได้ทันที ทั้งในแง่ของบริการด้านธุรกรรมการเงินและบริหารกระแสเงินสด ไปจนถึงการข้ามสายไปยังทีมธุรกิจเอสเอ็มอีก็พร้อมเข้ามาจับธุรกิจต่อเนื่องไปด้วยเช่นกัน เรียกว่าโยงจากธุรกิจค้าปลีกไปสู่ Supply Chain ได้ทั้งระบบจริง ๆ"

ปิติบอกอีกว่า ระบบงานในสายธุรกิจลูกค้ารายใหญ่วันนี้ TMB ให้น้ำหนักความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีกค่อนข้างมาก ด้วยการตั้งขึ้นเป็นหนึ่งในสายธุรกิจที่ต้องการโฟกัส มีทีม "ผู้เชี่ยวชาญ" ที่รู้ลึกและคอยเกาะติดสภาวะตลาด รวมถึงมีทีมลูกค้าสัมพันธ์รับผิดชอบสายธุรกิจนี้โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับที่มีในสายของธุรกิจพลังงาน ไฟฟ้า สินค้าเกษตรแปรรูปขนาดใหญ่อีกด้วย

เมื่อผนวกทั้งมิติความสำคัญของปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ธุรกิจค้าปลีกในวันนี้จึงถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ของ "ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจไทย" ในวันข้างหน้า ดังนั้น ดีลนี้จึงไม่ได้จบแค่ สินเชื่อในวงเงิน 38,500 ล้านบาท แต่ยังหมายถึง "กุญแจ" ไปสู่ธุรกิจต่อเนื่องภายใต้โมเดล Supply Chain อีกมหาศาล เพราะนี่คือ "ธง" ภายใต้โมเดลธุรกิจที่ TMB ต้องการจะก้าวเดินไปสู่อนาคต

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails