Pages

Friday, August 6, 2010

ปตท.เล็ง'คาร์ฟูร์'ลุยค้าปลีก PTT AIMS FOR CARREFOUR BIDDING


ศึกชิงดำกิจการ"คาร์ฟูร์"ในไทยฝุ่นตลบ ยักษ์พลังงาน ปตท.โดดร่วมวงประมูลแข่งโลตัส-บิ๊กซี-เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เผยแผนธุรกิจเอื้อประโยชน์การค้าน้ำมันหวังโกยกำไรจากค้าปลีกไปชดเชยรายได้ที่หดหาย พร้อมเตะสกัดคู่แข่งรายอื่นขึ้นมาทาบรัศมี มั่นใจประสบการณ์บริหารร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ช่วยหนุนส่ง กรมการค้าภายในติดตามข้อมูลใกล้ชิดก่อนรายงาน รมว.พาณิชย์

สืบเนื่องจากการประกาศขายกิจการใน 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ของ "คาร์ฟูร์" ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอันดับ 2 ของโลกจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นรองเพียงแค่"วอล-มาร์ต"ราชาดิสเคาต์สโตร์สัญชาติอเมริกาเมื่อเร็วๆนี้ ส่งผลให้ในแวดวงธุรกิจค้าปลีกเมืองไทยเกิดอาการฝุ่นตลบเพราะมีกลุ่มทุนหลายค่ายเคลื่อนไหวจะเข้าซื้อกิจการ ไล่ตั้งแต่เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี , แม็คโคร,บิ๊กคอนซูเมอร์เมืองไทย"สหพัฒน์" และเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ หรือ BJC ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ล่าสุดมีผู้ให้ความสนใจเพิ่มอีกราย คือ บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ บมจ.ปตท. ยักษ์ใหญ่ธุรกิจพลังงานของไทยปตท.รุกค้าปลีก
ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจาก บมจ.ปตท. เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการเสนอแผนธุรกิจน้ำมันของ บมจ.ปตท.ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าซื้อกิจการห้างคาร์ฟูร์จริง เนื่องจากมองว่าเป็นโอกาสและลู่ทางหนึ่งในการหารายได้ เพราะเวลานี้ธุรกิจค้าปลีกมีกำไรต่อชิ้นกว่า 20-300 % ขึ้นไป เมื่อเทียบกับการขายน้ำมันต่อลิตรที่มีกำไรเพียงแค่ 2-3 % เท่านั้น อีกทั้งรายได้ของห้างคาร์ฟูร์อยู่ในระดับ 36,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับรายได้ร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่ในปั๊มปตท.เพียงแค่ 4,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้เห็นว่าไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็นตลาดที่ใหญ่ควรจะเข้าไปดำเนินการ ประกอบกับบมจ.ปตท.มีความสามารถในการบริหารงานด้านค้าปลีกจากร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่อยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา
ส่วนรูปแบบการดำเนินงานนั้นแหล่งข่าวกล่าวว่า มีทั้งซื้อกิจการมาแล้วและนำพื้นที่หน้าห้างมาตั้งเป็นสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเป็นจุดดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการเติมน้ำมันและแวะซื้อของกลับบ้าน เหมือนกับปั๊มน้ำมันที่ บมจ.ปตท.ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ที่ลูกค้าจะเข้ามาเติมน้ำมันแล้ว จะแวะซื้อของในร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่หรือเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในฝรั่งเศสที่บริษัทน้ำมันเข้าไปตั้งปั๊มน้ำมันหน้าห้างเพื่อดึงลูกค้าให้มาซื้อของ หรืออีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ที่เวลานี้เซเว่นอีเลฟเว่น ได้เข้าไปซื้อปั๊มน้ำมันของเอสโซ่ทั้งหมด เพื่อเปิดร้านค้าสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน เป็นต้น

เตะสกัดคู่แข่งขัน
แหล่งข่าวยังให้เหตุผลด้วยว่า หาก บมจ.ปตท.ไม่เข้าไปซื้อกิจการของคาร์ฟูร์ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะหากมีบริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างชาติรายอื่นเข้าไปดำเนินการ จะทำให้สูญเสียโอกาสการทำรายได้ แต่หาก บมจ.ปตท.ซื้อกิจการได้ก่อนก็จะเป็นการกันผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ และเป็นการหารายได้หรือการเติบโตขององค์กรอีกทางหนึ่ง เพราะการหารายได้จากธุรกิจน้ำมันมีแต่จะแคบลง เพราะมีก๊าซหุงต้ม ก๊าซเอ็นจีวี เอทานอล และไบโอดีเซล เข้ามาแย่งตลาดมาก ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งรูปแบบนี้อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งปั๊มน้ำมันหน้าห้างก็ได้
"ส่วนการจะตัดสินใจซื้อกิจการของคาร์ฟูร์หรือไม่นั้น เวลานี้คงเป็นเพียงการศึกษาถึงความเป็นไปได้เท่านั้น คงต้องรอดูจังหวะและสอดรับกับแผนการขายกิจการของคาร์ฟูร์ด้วย"แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด
เบอร์ลี่หวังเติมเต็มธุรกิจ
ด้านความเคลื่อนไหวของผู้สนใจรายอื่น นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด(มหาชน)หรือ BJC ผู้ดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ 1 ใน 5 กลุ่มธุรกิจของเครือที.ซี.ซี. กรุ๊ป เปิดเผยถึงทิศทางธุรกิจก่อนหน้านี้ว่า แนวทางการขยายธุรกิจของบริษัทจากนี้ไปจะเน้นไปที่การร่วมทุน หรือเข้าควบรวมกิจการ เพราะทำให้สามารถขยายฐานได้รวดเร็ว ซึ่งบริษัทให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลกิจการห้างค้าปลีกคาร์ฟูร์ ทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมกันกว่า 60 สาขา เนื่องจากต้องการเติมเต็มธุรกิจ เพราะปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ดำเนินการสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ยังขาดในส่วนของปลายน้ำที่จะเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ซึ่งสามารถเข้ามาเติมเต็มธุรกิจที่มีอยู่ และยอมรับว่าค้าปลีกเป็นธุรกิจใหม่ ถ้ามีโอกาสก็ต้องเรียนรู้ แต่ตรงนี้เป็นการประมูล โอกาสที่จะได้หรือไม่ได้พอ ๆ กัน โดยขณะนี้เรายังไม่ได้รายละเอียดการประมูลจากฝั่งผู้ขาย
แหล่งข่าวจากแวดวงธุรกิจค้าปลีกเมืองไทย กล่าวว่า คาดว่าขั้นตอนการซื้อ-ขายกิจการคาร์ฟูร์จะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนจึงจะได้ข้อสรุปและก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในการเสนอราคา ซึ่งมีอยู่หลายรายที่ให้ความสนใจและเป็นข่าวออกมาแล้วว่าสนใจ เช่น เทสโก้ โลตัส ที่ให้ความสนใจที่จะซื้อหุ้นคาร์ฟูร์ใน 3 ประเทศดังกล่าวด้วย และเชื่อว่ายังมีอีกหลายรายที่ให้ความสนใจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการดิสเคาต์สโตร์ในไทยทุกรายต่างต้องการสาขาของคาร์ฟูร์เข้ามาเพิ่มเครือข่ายทางธุรกิจ เช่นเดียวกับกลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และบิ๊กซี ที่มีรายงานข่าวก่อนหน้านี้ว่า กลุ่มคาสิโนกรุ๊ป บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)ให้ความสนใจเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน
การประกาศขายกิจการในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ คาดว่าจะทำเงินให้กับคาร์ฟูร์เอสเอ ราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยการขายกิจการในประเทศไทยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 500-600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลือเป็นของมาเลเซียและสิงคโปร์ เพื่อนำเงินไปลงทุนในประเทศใหญ่แทน

ค้าภายในจับตาใกล้ชิด
ด้านนางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรณีที่ห้างคาร์ฟูร์เตรียมขายกิจการในไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ และมีห้างโมเดิร์นเทรดหลายรายสนใจซื้อนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้รวบรวมข้อมูล ก่อนนำเสนอให้นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาว่า การรวมกิจการดังกล่าวจะผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่ รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีกหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้"คาร์ฟูร์" ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท เซ็นคาร์ จำกัด เปิดให้บริการสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2539 บนถนนสุขาภิบาล 3 ก่อนที่จะขยายสาขาในรูปแบบต่างๆทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมแพ็กต์ และมินิ ไฮเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งรูปแบบของศูนย์การค้าขนาดย่อม หรือคอมมิวนิตี มอลล์ ย่านถนนนวมินทร์ ปัจจุบันคาร์ฟูร์มีสาขารวม 45 แห่ง ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 30 แห่งและต่างจังหวัด 15 แห่ง

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails