ถ้าหากว่า 24 สิงหาคมนี้เป็นวัน "แกรนด์โอเพนนิ่ง" ศูนย์การค้า "พาราไดซ์พาร์ค" ก็คงถือเป็นการปิดฉาก...ปิดตำนาน ของศูนย์การค้า "เสรีเซ็นเตอร์" ที่ให้บริการมาตลอด 15 ปีอย่างเต็มตัว
การแปลงโฉม "เสรีเซ็นเตอร์" ที่เรียบง่าย นิ่ง ไม่หวือหวา ให้กลายเป็นสวนสวรรค์แห่งการช็อปปิ้งของกรุงเทพฯย่านตะวันออก ไม่ได้กลายเป็นโจทย์การทำงานเดียวที่ท้าทาย "ชฎาทิพ จูตระกูล" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สยามพิวรรธน์เท่านั้น แต่ยังมีอีก 2 ภารกิจสำคัญ คือการปรับโพซิชันนิ่ง "สยามเซ็นเตอร์" ครั้งใหญ่ ขณะเดียวกัน ต้องเร่งมือให้พร้อม เพื่อลอนช์แม็กเนตสำคัญ ที่จะเข้ามาเติมเต็ม "สยามดิสคัฟเวอรี่" สู้ศึกการแข่งขันค้าปลีกกลางเมืองที่ดุเดือด
พันธกิจที่ว่า เมื่อไปที่ไหน เมื่อทำอะไร ต้องเป็น "เทรนด์เซตเตอร์" เสมอ ทำให้ Look ใหม่ของทั้ง 3 ศูนย์การค้ากลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญเชื่อมโยง "อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต" สอดคล้องกับกลยุทธ์การแปลงโฉมด้วยแนวทาง "Before & After" ของกลุ่ม "สยามพิวรรธน์" ตลอดกว่า 25 ปี ที่โลดแล่นอยู่ในวงการค้าปลีกเมืองไทย
เมื่อเปลี่ยนแล้ว ต้องดีกว่าเก่า
เมื่อเปลี่ยนแล้ว ต้องสลัดคราบไคลเดิม ๆ ที่เคยจดจำ
เมื่อเปลี่ยนแล้ว ผู้ใช้บริการต้องสัมผัสกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
หนึ่งในภารกิจ "Before & After" ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือการลบภาพของเสรีเซ็นเตอร์ ที่ลูกค้าต่างซึมซาบว่าเป็นห้างของคนสูงอายุ ขายอาหาร-สินค้าสุขภาพ พูดถึงทีไร มักมีใบหน้าของมหาจำลอง ศรีเมือง หรือคุณชายถนัดศรีลอยมา แต่ตลอด 3 ชั่วโมงเต็ม ที่ "ชฎาทิพ" พา "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจทุกซอกทุกมุมของเสรีเซ็นเตอร์ ศูนย์ภายใต้ชื่อใหม่ "พาราไดซ์พาร์ค" เห็นได้ชัดถึงความ แตกต่าง ทันสมัย รวมทั้งสินค้า ร้านค้า ไม่ต่างไปจาก "ห้างกลางเมือง"
ด้วยพื้นที่เช่า 9 หมื่น ตร.ม. มี 700 ร้านค้าครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นวิลล่า มาร์เก็ต ซูเปอร์ มาร์เก็ตพรีเมี่ยมสาขาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ, เสรีมาร์เก็ต ตลาดอาหารสดสไตล์ไทยโบราณ, แหล่งรวมแฟชั่นมาจากย่านสยาม ทั้ง แบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศกว่า 100 ยี่ห้อ,
สินค้าร้านลอฟท์กว่า 1 แสนชิ้น, เครื่องสำอางแบรนด์ดัง, ร้านสปอร์ตเวิลด์, แหล่งรวมร้านไอที, โฮมโปร และโรงหนังเครือเมเจอร์ฯ 900 ที่นั่ง ฯลฯ
เทียบกับเมื่อครั้งยังเป็นเสรีเซ็นเตอร์ ที่ภาพดูทะมึนทึม ขาดซึ่งความสดใส
เป็นผลจากการลงมือสำรวจความต้องการผู้บริโภคในย่านนี้อย่างละเอียดยิบ
"เดี๋ยวนี้ การใช้ความรู้สึกในการ ตัดสินใจ ใช้ไม่ได้ผลแล้ว"
ผลสำรวจดังกล่าว กลายเป็นคัมภีร์ชี้ว่า พาราไดซ์พาร์ค จะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ขณะเดียวกัน เป็นคัมภีร์อ้างอิงให้ร้านค้าต่าง ๆ ตัดสินใจร่วมธุรกิจ
การสยายปีกออกนอกพื้นที่กลางเมืองที่คุ้นเคย นอกเหนือจากสร้างรายได้-กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจตลอดทั้งย่านปทุมวัน-ราชประสงค์ แข่งขันกันรุนแรง "ชฏาทิพ" ยังมองเห็นโอกาสของทำเล "ศรีนครินทร์" ที่กลุ่มลูกค้าและกำลังซื้อไม่ได้ด้อยไปกว่าทาร์เก็ต กลางเมือง
ยิ่งเมื่อนับรวมปัจจัยทางการเมือง ที่มีเหตุให้ต้องปิดศูนย์การค้าอยู่เนือง ๆ ไม่เว้นแต่ละปี ทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ต่างยึดพื้นที่ย่านใจกลางเมืองเป็นทำเลทองและจุดรวมพล ล้วนเป็นเหตุผลที่ต้องมองหาศูนย์นอกพื้นที่กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ
กลายเป็นความลงตัว ที่ "เอ็มบีเคเซ็นเตอร์" ชักชวนมาลงทุนพาราไดซ์ พาร์ค
"อิมเมจใหม่" "โจทย์ใหม่" ของผู้บริหารสยามพิวรรธน์คนนี้ หลังแปลงโฉม ต้องทำให้ลูกค้ามองพาราไดซ์พาร์ค เป็นภาพเคน ธีรเดช หล่อ ฉลาด และรักครอบครัว แต่ก็ใช่ว่าจะทิ้งลูกค้าเสรีเซ็นเตอร์เดิม เพราะเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อ การออกแบบ จึงเป็นศูนย์เทเลอร์เมดสำหรับชุมชนจริง ๆ รัศมีครอบคลุม 10-20 ก.ม.
"การเปิดศูนย์การค้าใหม่ ทุกอย่างจะเป็นการตื่นเต้น คาดหวังตั้งแต่ตอนที่เปิดประตู และก้าวแรกที่เดินเข้าไป แต่สำหรับการเปลี่ยนโฉมใหม่ของศูนย์ กลายเป็นความท้าทายไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะลูกค้าจะเห็นการเปรียบเทียบ การคาดหวัง Before & After จึงสำคัญมาก"
ที่สำคัญ ทำอย่างไรหลังจากเปิดห้างใหม่ หรือรีโนเวตไปแล้วนั้นจะไม่ใช่แค่ "ฮันนี่มูนพีเรียด"
ทำอย่างไรให้ศูนย์ติดตลาดและลูกค้าเข้ามาจับจ่ายต่อเนื่องด้วยเป้าหมาย 1.5 แสนคนต่อวัน จากเดิม 7 หมื่นคนต่อวัน
"หลังเปิดบริการ จากนั้นคือบทพิสูจน์ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ให้คำตอบเรา"
"ชฎาทิพ" ชี้ภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกว่า เป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ที่จะสื่อถึงลูกค้าและบอกกับตลาดว่ามาศูนย์เพื่อซื้อของและมีสินค้าอะไรบ้าง แต่การเป็นศูนย์เทเลอร์เมดจะเป็นตัวสร้างความแตกต่างด้วยร้านค้ากว่า 80% ไม่เคยเปิดในย่านกรุงเทพฯตะวันออกมาก่อน รวมทั้งการสื่อถึงกลุ่มลูกค้าพาราไดซ์พาร์ค จะผ่านข้อความเดียว คือเป็นศูนย์ของชุมชน...มาแล้วมีความสุข เพราะเชื่อว่าทุกคนอยาก รับรู้แต่เรื่องดี ๆ ข่าวดี ๆ
ทำให้การทำงานทุกขั้นทุกตอน "ชฎาทิพ" ใส่ใจในทุกรายละเอียด เพื่อให้เป็นสวนสวรรค์ของการช็อปปิ้งจริง ๆ จึงไม่แปลก ที่งบฯการลงทุนรีโนเวตครั้งนี้จะบานปลายจาก 2,500 ล้านบาท เป็น 3,200 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่มีอายุสัญญาการเช่าที่ดิน 2.9 แสน ตร.ม.แห่งนี้เหลืออีก 15 ปีเท่านั้น
"ต้องใส่ Value เข้าไปทุกมุม ต้องใช้ความละเอียดมาก" ชฎาทิพสำทับ
ที่สำคัญ ถ้าการรีโนเวตไม่เจ๋ง ไม่โดดเด่น ทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ แล้ว ยิ่งถ้าซีคอนสแควร์ หรือเซ็นทรัลบางนา ทุ่มงบฯปรับโฉม ครั้งใหญ่ ก็คงเป็นการยาก ที่จะแจ้งเกิด
แต่ด้วยโจทย์ที่ต้องเป็น "เทรนด์เซตเตอร์" รูปแบบการทำงานจึงต้องทุ่มเทและตั้งใจ ซึ่งหลังจากเปิดพาราโดซ์พาร์คแล้วนั้น ต้นเดือนกันยายน "ชฎาทิพ" เตรียมที่จะแปลงโฉมสยามเซ็นเตอร์ เพื่อตอกย้ำโลโก้ "แฟชั่นและเทรนด์เซตเตอร์" อีกรอบ
"การทำธุรกิจรีเทลที่ต้องเรียนรู้ทุก ๆ วัน เนื่องจากตลาดเปลี่ยน ลูกค้าเปลี่ยนมีคู่แข่งเก่ง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ศูนย์ต้องเติม แม็กเนตใหม่ ๆ เข้ามาสร้างสีสัน ซึ่งเดิม การรีโนเวตศูนย์ จะทิ้งช่วงประมาณ 7 ปี แต่ตอนนี้ 3-4 ปี ก็ต้องคิด ต้องทำแล้ว"
ซึ่งแนวทางใหม่ จะปั้นสยามเซ็นเตอร์ เพื่อเป็น "แฟลกชิปสโตร์" ของแต่ละสินค้า ซึ่งแม้ว่าแบรนด์จะไม่ต่างจากศูนย์อื่น แต่ไลน์อัพและคอลเล็กชั่นสินค้า จะเป็นจุดขาย สร้างความแตกต่าง
ขณะเดียวกัน โดยโพซิชันนิ่งของสยามเซ็นเตอร์ จะปรับเปลี่ยนไปบ้าง
จากเดิม คนมองว่า สยามเซ็นเตอร์คือวัยรุ่น ก้าวไปสู่ใครก็ได้ ที่ young @ heart
รูปลักษณ์ใหม่ของ "สยามเซ็นเตอร์" เป็นการศึกษาจากเทรนด์ของศูนย์การค้าต่างประเทศที่กำลังนิยม ใช้โทนสี แสงสร้างความต่างของอารมณ์และความรู้สึก ซึ่งแต่ละชั้นจะไม่เหมือนกัน รวมถึงโซนด้านหน้า จะปรับพื้นที่ลานด้านหน้าและบันได ที่เป็นสัญลักษณ์ของสยามเซ็นเตอร์ในรูปแบบใหม่ พร้อม ๆ กับ "สยามดิสคัฟเวอรี่" ที่ลงทุน 1 พันล้านบาท เนรมิตพื้นที่ 8 พัน ตร.ม.ในชั้น 6-7-8 เตรียมเปิดพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ, ลานสเกตไอซ์แพลเนต และร้านอาหาร 40 แห่ง ที่จะเข้ามาแทน "Multi-Purpose Hall" ฮอลล์อีเวนต์ ที่วางไว้เดิม และเลื่อนไปเปิดตัวช่วงต้นปีหน้า
ก้าวย่างตลอด 25 ปี ของ "สยามพิวรรธน์" จากสยามเซ็นเตอร์-สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน สู่พาราไดซ์ พาร์ค แม้ว่าจะไม่มากในแง่ปริมาณ แต่สำหรับ "คุณภาพ" แล้วนั้น เป้าหมายการ ขับเคลื่อนด้วยกลยุทธ์ผู้นำ "เทรนด์ เซตเตอร์" คงยากที่ใครจะปฏิเสธ
No comments:
Post a Comment