Image via Wikipedia
เม็ดเงินสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและกระตุ้นกำลังซื้อใช่ว่าจะกระจุกตัวอยู่แต่กลางเมืองและย่านธุรกิจเท่านั้น ภาพเด่นชัดของการลงทุนศูนย์การค้าใหม่ๆ ขนาดใหญ่ตามแนวชานเมืองรอบนอกที่คึกคักและต่อเนื่องตลอดช่วง 1-2 ปีท่ามกลางภาวะการลงทุน ที่ซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นตัวสะท้อนถึงความไม่หยุดนิ่งของตลาดค้าปลีกได้เป็นอย่างดี
ทุกค่ายในวงการค้าปลีกต่างเคลื่อนทัพเข้าไปจับจองและลงทุนพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯแล้วทั้งนั้น อาทิ ไล่เรียงมาตั้งแต่แจ้งวัฒนะ งามวงศ์วาน ที่เป็นการประชันศึกศักดิ์ศรีของเดอะมอลล์เจ้าถิ่นและกลุ่มเซ็นทรัล ราชพฤกษ์ พระราม 5 มีโฮมโปรชนโฮมเวิร์ค, บางนาที่กลุ่มสยามฟิวเจอร์ลงทุนเตรียมเปิดโครงการขนาดใหญ่ "เมกะบางนา", ย่านรามอินทราที่มี 1 เดียวของศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ลงทุน 600 ล้านบาทปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปีตั้งแต่ทำธุรกิจมา
แต่ที่ขาดไม่ได้คือพื้นที่ย่านกรุงเทพฯตะวันออกตลอดเส้น "ศรีนครินทร์" ที่นักพัฒนาธุรกิจค้าปลีกแต่ละค่ายไม่ยอมตกขบวนด้วยถนนในรัศมี 10-15 กิโลเมตร
ตลอดเส้นถนนศรีนครินทร์กลายเป็นแหล่งรวมของพื้นที่ค้าปลีกแทบทุกค่าย นอกเหนือจากเจ้าถิ่นดั้งเดิมอย่างศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ แล้วยังมีบิ๊กซี, แม็คโคร, คาร์ฟูร์, เทสโก้ โลตัส, แม็กซ์แวลู (จัสโก้) และพาราไดส์ พาร์ค โครงการใหม่บนพื้นที่เสรีเซ็นเตอร์เดิมที่กลุ่มเอ็มบีเค-สยามพิวรรธน์ วางงบฯ 2,000 ล้านบาท
รวมทั้งกลุ่มเซ็นทรัลที่เตรียมเปิดรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์โดยมีโฮมเวิร์คและกลุ่มบียูเซ็นทรัลรีเทลเป็นแม่เหล็ก ทั้งหมดล้วนต่างขยับตัวเพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่เริ่มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
แม้ตลอดทั้งปีนี้กลุ่มทุนค้าปลีกจะซึมซับถึงกำลังซื้อที่ลดลงได้เป็นอย่างดี แต่กลับยังคงเดินหน้าลงทุนโครงการใหม่-รีโนเวตปรับโฉมสาขาเดิมเพื่อรอตลาดในอนาคตที่ตั้งความหวังว่าอีก 1-3 ปีข้างหน้า...น่าจะดีขึ้น
ความน่าสนใจของทำเลแถบชานเมืองเริ่มขึ้นเมื่อกลุ่มลูกค้าหลักของค้าปลีกขยายตัวออกไปตามเมืองและชุมชนใหม่ที่ออกไปสู่รอบนอกต่อเนื่อง โซนกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาไม่มีศูนย์การค้าใหม่เกิดขึ้นมาเลยโดยเฉพาะในโครงการขนาดใหญ่พื้นที่ตั้งแต่ 1 หมื่น ตร.ม.ขึ้นไปนั้นมีเพียง 3 ค่ายหลัก คือ ซีคอนสแควร์, เซ็นทรัล และเสรีเซ็นเตอร์ ประกอบกับพื้นที่นี้ติดโซนสีส้ม ทำให้โครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้นจึงมักอยู่ในรูปแบบคอมมิวนิตี้มอลล์
การก้าวเข้ามาลงทุนของกลุ่มสยามพิวรรธน์และเอ็มบีเคเพื่อเปิด "พาราไดส์ พาร์ค" จึงกลายเป็นโอกาส "ชฎาทิพ จูตระกูล" หนึ่งในผู้ถือหุ้นโครงการนี้ ชี้ว่า โจทย์สำคัญของการแปลงโฉมให้เป็นห้างแห่งใหม่ที่ทันสมัย เป็นความท้าทายของการทำธุรกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาสยามพิวรรธน์แข่งขันอยู่ใจกลางเมืองเป็นหลัก ขั้นตอนตัดสินใจต้องรอบคอบเพื่อให้ได้มาตรฐานแบบศูนย์การค้าที่สมบูรณ์แบบใจกลางเมือง
ด้าน "เซ็นทรัล บางนา" ตั้งเป้าขยายลูกค้าฝั่งกรุงเทพฯตะวันออก ด้วยการลงทุน 300 ล้านบาท ปรับใหญ่โดยตกแต่งภายใน ขยายพื้นที่เพิ่มแผนกและแบรนด์ใหมˆเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
การสำรวจผ่านบริษัทวิจัยที่ทำแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่พักอาศัยในย่านกรุงเทพฯตะวันออกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าการขยายตัวของลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลจากการเพิ่มของจำนวนโครงการหมู่บ้านจัดสรรในระดับราคาปานกลาง-ราคาสูงกว่า 70 โครงการ
และพบว่ารายได้ต่อครัวเรือนในพื้นที่ ดังกล่าวกว่า 43% มีสูงกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน ขณะที่ครัวเรือนทั่วทั้งกรุงเทพฯมีสัดส่วนเพียง 20% และมีครอบครัวถึง 2.8 หมื่นครอบครัว มีรายได้สูงกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายที่ชี้ว่าอันดับแรกของพฤติกรรมลูกค้าตอนนี้ คือเลือกซื้อสินค้าอาหารเข้าบ้าน 2.ออกไปทานอาหารนอกบ้าน และ 3.ช็อปปิ้งเสื้อผ้า แฟชั่นและแอ็กเซสซอรี่ต่างๆ เป็นต้น
เช่นเดียวกับโซนกรุงเทพฯฝั่งตะวันตก ศูนย์การค้าไม่ได้ตั้งเป้าเพียงเพื่อเจาะทาร์เก็ตย่านแจ้งวัฒนะ-งามวงศ์วานเท่านั้น แต่ยังตั้งเป้ากินอาณาเขตไกลถึง นนทบุรี, ปทุมธานี, อยุธยา และสุพรรณบุรี
กลายเป็นทำเลทองหลังภาครัฐพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์ราชการ ซึ่งการขยายเมืองส่งผลให้เกิดชุมชนใหม่ๆ โดยเฉพาะหมู่บ้านเกรดเอกว่า 50 หมู่บ้าน อาทิ นิชาดา, Grand Cannel, ลัดดาวัลย์, เศรษฐสิริ โรงเรียนนานาชาติชั้นนำ เช่น ISB, Harrow, เซนต์ฟรังฯ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของศูนย์การค้า
"ชำนาญ เมธปรีชากุล" ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายการตลาด เดอะมอลล์ กรุ๊ปชี้ว่า จำนวนหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไปการเพิ่มขึ้นของประชากรไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
ขนานไปกับเส้น "ราชพฤกษ์-พระราม 5" เป็นอีกหนึ่งทำเลทองที่กลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกจับจ้อง ความเคลื่อนไหวของค้าปลีกย่านนี้คือสงครามแย่งชิงกลุ่มลูกค้าที่มีเงินหนาและกำลังซื้อสูง โดยเซ็นทรัลเปิดตัวในรูปแบบสแตนด์อะโลน โดยมีโฮมเวิร์คพร้อมเพาเวอร์บาย-ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็น แม่เหล็ก ห่างออกไปเพียง 1.5 ก.ม.เจ้าถิ่น"โฮมโปร" ได้ซื้อพื้นที่เพิ่มและยกระดับ ศูนย์เป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ด้วยการดึง "วิลล่า มาร์เก็ท" ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมี่ยมมาร่วม
ภาพความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนค้าปลีกที่เทน้ำหนักรุกลูกค้าชานเมืองรอบด้านล้วนเพื่อช่วงชิงกำลังซื้อลูกค้าของกลุ่มใหม่ระหว่างรอเศรษฐกิจมากระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มลูกค้าเดิมกลับมา เป็นตัวสะท้อนถึงความไม่หยุดนิ่งและไม่ยอมจำนนต่อปัจจัยลบของกลุ่มทุนค้าปลีกได้เป็นอย่างดี
No comments:
Post a Comment