Image by patrikmloeff via Flickr
จับตา "เซเว่นอีเลฟเว่น" หัวขบวนผนึกค้าปลีกพันธุ์ไทย "ตั้งฮั่วเส็ง-โฮมโปร-ช้อยส์มินิสโตร์" ตั้งสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย คาดดัน "สุวิทย์ กิ่งแก้ว" นั่งแท่นนายกฯ ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังนิ่ง
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่นได้ส่งจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ เพื่อแถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย (DTRA) โดยกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมในเบื้องต้นประกอบด้วย เซเว่นอีเลฟเว่น, ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง, โฮมโปร และช้อยส์มินิสโตร์ (กลุ่มตันตราภัณฑ์เชียงใหม่ ผู้ดำเนินธุรกิจเซเว่นอีเลฟเว่นในเชียงใหม่)
แหล่งข่าวจากบริษัทที่เข้าร่วมจัดตั้งสมาคมรายหนึ่งกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การตั้งสมาคมขึ้นมาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกที่เป็นของคนไทย เนื่องจากสมาคมกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกว่า จะต้องเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เท่านั้น
"การหารือในการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาใหม่นี้มีบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พยายามผลักดันและดำเนินการ
ส่วนการวางกรอบนโยบายและบทบาทสมาคมที่จะเห็นเป็นรูปธรรมนั้นคงต้องรอการหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง"
อย่างไรก็ตามสมาชิกหลักรายอื่น ๆ อาทิ เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ แม็คโคร แฟมิลี่มาร์ท ฯลฯ ยังเป็นสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทยอยู่เช่นเดิม
แหล่งข่าวรายนี้ยังกล่าวด้วยว่า คาดว่าในช่วงแรกนี้นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จะได้รับการโหวตตำแหน่งนายกสมาคมเป็นวาระแรก
ก่อนหน้านี้นายสุวิทย์รับตำแหน่งรองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แต่เพิ่งลาออกไปเมื่อไม่นานมานี้เพื่อรับตำแหน่งในองค์กรธุรกิจแห่งใหม่
ขณะที่นายธนภณ ตังคณานันท์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การรวมกลุ่มกันเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายของการทำงาน ตอนนี้ (3 พฤศจิกายน) คงยากที่จะตอบ และคงต้องขอดูรายละเอียดและแนวทางการทำงานของสมาคมนี้ก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแถลงข่าวประกาศจัดตั้งสมาคมดังกล่าวเป็นช่วงที่กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการเร่งทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลาย ๆ ฝ่ายว่า ร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในหลาย ๆ ประเด็น และเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งไปที่การควบคุมโมเดิร์นเทรด แต่ไม่มีมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านโชห่วยที่เป็นรูปธรรม และการควบคุมการขยายตัวของโมเดิร์นเทรดอาจจะทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าในราคาแพงขึ้น
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การตั้งสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทยที่มีบริษัท ซีพี ออลล์ ผลักดันในครั้งนี้อาจเกิดจากปัญหาโครงสร้างของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่มีจำนวนสมาชิกที่หลากหลาย มีทั้งที่เป็นสัญชาติไทยและต่างชาติ ดังนั้นการจะมีมติหรือดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้มีความเป็นเอกภาพจึงเป็นเรื่องที่ยากและไม่ทันกับสถานการณ์
No comments:
Post a Comment