ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
วางกลยุทธ์ขยายรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาชนิดพิเศษซึ่งมีส่วนผสมของกำมะถันเพียง
0.3% เข้าไปยังประเทศญี่ปุ่น ภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิมีความต้องการใช้น้ำมันเตาปริมาณมากและนิยมซื้อเกรดพิเศษ
สามารถขายได้ราคาดีถึง 16 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ผลิตได้เท่าไหร่ทางญี่ปุ่นสั่งซื้อทั้งหมด ขณะนี้บางจากผลิตได้วันละประมาณ 10%
ของน้ำมันทั้งหมด ซึ่งผลิตเฉลี่ย 110,000 บาร์เรลต่อวัน
พร้อมทั้งเดินหน้าแผนร่วมทุนเปิดร้านสะดวกซื้อภายในสถานีบริการบางจาก
เตรียมร่วมกับห้างสรรพสินค้าเครือบิ๊กซี ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่
เริ่มทดลองบ้างแล้วประมาณ 5 สถานี แห่งแรกตรงสถานีบางจาก สุขุมวิท 64
ตั้งเป้าโดยภาพรวมจะขยายให้ได้กว่า 200 แห่ง
รวมถึงทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับภายในห้างบิ๊กซีจะจำหน่ายสินค้าชุมชนพ่วงเข้าไปด้วย
ส่วนร้านใบจากทางบริษัทจะยกเลิกเร็ว ๆ นี้
ขณะที่ร้านเลมอนฟาร์มยังอยู่เพราะเป็นของมูลนิธิที่จะมาเช่าสถานีบางจากขายสินค้าเพื่อสุขภาพ
"ผมเชื่อว่าธุรกิจเชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นรายได้จากส่วนอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน
หรือ nonoil
จะช่วยเพิ่มยอดขายน้ำมันมากขึ้น ช่วงที่สถานีบริการของ ปตท.
ดึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเข้าร่วม ยอดขายน้ำมัน ปตท.เติบโตขึ้นทันที ธุรกิจ nonoil
กับธุรกิจ oil ส่งเสริมซึ่งกันและกัน"
ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า
โครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันบริเวณทุ่งรังสิต พื้นที่ 1,200 ไร่
ล่าสุดตัดสินใจปรับแผนจัดทำเป็นเฉพาะศูนย์การเรียนรู้การปลูกปาล์มน้ำมัน
ยกเลิกลงทุนผลิตไบโอดีเซล
ดังนั้นจึงต้องย้ายโรงกลั่นไปสถานที่อื่น
เพราะตอนแรกเลือกทุ่งรังสิตโดยเห็นว่ามีไร่ส้มทิ้งร้างไว้นับแสนไร่
ประกอบกับบางจากมีที่ดิน 1,200 ไร่ เลยคิดโครงการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันควบคู่กับจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรปลูกปาล์มแล้วนำผลผลิตมาขายให้บางจาก
(contract
farming) แต่ปรากฏว่าที่ดินส่วนใหญ่ไม่ใช่ของชาวบ้าน
เป็นของกลุ่มทุนซึ่งไม่ประสงค์จะให้บางจากเช่าต้องการปล่อยทิ้งร้าง
ดังนั้นการตั้งโรงกลั่นจึงไม่คุ้มทุน จำเป็นต้องปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ฯเท่านั้น
ทั้งนี้
บางจากเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจทั้งระบบตั้งแต่ครึ่งปีหลัง 2555 เป็นต้นไป
แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 การลงทุน
มุ่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันมุ่งสู่นวัตกรรมระดับสูงด้านการกลั่น (high
innovation refinery) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันโดยใช้งบประมาณ
8,000 ล้านบาท ปรับปรุงและพัฒนาโครงการ 3 E พลังงาน (energy)
ประสิทธิภาพ (efficency) และสิ่งแวดล้อม (environment)
จากโครงการหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ให้ทันสมัยที่สุด
หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม
และจัดระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเป็น 5 ดาว
ตลอดปี 2555
ธุรกิจโรงกลั่นจะยืนอยู่ได้ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมัน
โดยรักษาค่าการกลั่นเฉลี่ยไว้ที่ 7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ด้วยกำลังการผลิต 96,000
บาร์เรล/วัน โดยได้หยุดซ่อมประจำปีเมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนที่ 2 การตลาด ใช้เงินลงทุน
2,000 ล้านบาท ขยายภายในปี 2555 ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.กรีน สเตชั่น
สถานีบริการขายพลังงานทดแทน E20
เพิ่มเป็น 600 แห่ง E85 เป็น 50 แห่ง
2.เพิ่มสาขาร้านกาแฟอินทนิลให้ครบ 500 แห่ง 3.ร่วมทุนกับบริษัทค้าปลีก
และโมเดิร์นเทรด ดึงสินค้าคอนซูเมอร์เพิ่มยอดขายน้ำมันแต่ละสถานี
4.ขยายฐานลูกค้าผ่านบัตรสมาชิกแก๊สโซฮอล์และบัตรดีเซลคลับ
ส่วนที่ 3
โครงการลงทุนพลังงานสะอาด ทำโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Sunny
Bangchak) อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฟสแรก กำลังผลิตติดตั้ง
44 เมกะวัตต์ เริ่มขายไฟเข้าระบบเมื่อเมษายน และจำหน่ายครบทั้งหมดภายในมิถุนายนนี้
จะทำให้มีรายได้เพิ่มอีก 400 ล้านบาท เฟส 2 โรงไฟฟ้าอำเภอบำเหน็จณรงค์
จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังผลิตติดตั้ง 50
เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จต้นปี 2556 เฟส 3
โรงไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก กำลังการผลิตติดตั้ง 157 เมกะวัตต์
อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับเหมา จะก่อสร้างให้เสร็จภายในปี 2557
No comments:
Post a Comment