Pages

Thursday, March 22, 2012

จับสัญญาณแนวรุกจาก CENTRAL


สัญญาณการลงทุนครั้งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล ในช่วงไม่ถึงสองปีมานี้ บ่งบอกความเชื่อมั่น ทั้งจากประสบการณ์รุ่นต่อรุ่นของตระกูลจิราธิวัฒน์ และวิสัยทัศน์ว่าด้วยความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยด้วย

จากเหตุการณ์เซ็นทรัลเวิลด์ เผชิญปัญหาทางธุรกิจจากการชุมนุมทางการเมือง และสุดท้ายโดนหางเลขจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นโดยตรง (พฤษภาคม 2553 เพลิงไหม้บางส่วน) จนต้องปิดเพื่อปรับปรุงพักใหญ่ นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าความรุนแรงทางการเมืองครั้งนั้นสะท้อนความไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนของสังคมไทยจากนี้ไปแต่ดูเหมือนมิได้สร้างปัญหาความเชื่อมั่นในอนาคตของกลุ่มเซ็นทรัลแต่อย่างใด



เริ่มต้นจากปลายปีเดียวกันนั้น(พฤศจิกายน 2553) บิ๊กซี (กิจการร่วมทุนระหว่างคาสิโนกรุ๊ปแห่งฝรั่งเศส กับกลุ่มเซ็นทรัล) เข้าซื้อเครือข่ายค้าปลีกคาร์ฟูร์ในประเทศไทย ด้วยมูลค่าประมาณ 35,588 ล้านบาท) จากนั้นกลุ่มธุรกิจแกนของกลุ่มเซ็นทรัล ประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ ทั้งในต่างประเทศ ด้วยการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าชั้นนำในอิตาลี (พฤษภาคม 2554 ซื้อเครือข่ายห้างสรรพสินค้า "ลา รีนาเชนเต") และการลงทุนศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมือง (เซ็นทรัล แอมบาสซี บนถนนเพลินจิต เริ่มก่อสร้างในไตรมาสแรกปีที่แล้ว และคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2556) และล่าสุดประกาศการลงทุนในพื้นที่หัวเมืองของประเทศไทยอีกหลายโครงการ (กุมภาพันธ์ 2555--เซ็นทรัลพัฒนาประกาศแผนการลงทุนครั้งใหญ่ เปิดตัว 7 โครงการใหม่ในปี 2555-2556 มีมูลค่าการลงทุนร่วมกันกว่า 25,300 ล้านบาท)

เท่าที่ประเมินอย่างคร่าว ๆ การลงทุนในรอบนี้ของกลุ่มเซ็นทรัล ถือว่ามีขนาดและมูลค่ามากกว่าครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทยก็ว่าได้

กลุ่มเซ็นทรัลมีทีมบริหารเป็นรุ่นที่สามของตระกูลจิราธิวัฒน์ถือเป็นทีมใหญ่ของครอบครัวขยาย พวกเขาและเธออยู่ในวัยเหมาะสมและมีประสบการณ์ ที่สำคัญเป็นประสบการณ์ที่ต่อเนื่องจากรุ่นต่อรุ่น โดยเฉพาะจากรุ่นที่สองต่อรุ่นที่สาม ซึ่งเป็นความต่อเนื่องที่สุดในบรรดาธุรกิจครอบครัวไทย

ผลึกประสบการณ์สะท้อนถึงโมเดลธุรกิจ ที่ถือว่าเป็นแบบฉบับสำคัญ คงต้องยก "โมเดลเซ็นทรัล ลาดพร้าว"

ผมเคยอรรถาธิบายโมเดลลาดพร้าวมาบ้าง จะขออ้างเพียงเล็กน้อย ก่อนจะมีรายละเอียดและแง่มุมอื่นที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีก

"โครงการพัฒนาศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้นดำเนินในพื้นที่เช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือเป็นครั้งแรกที่ห้างเซ็นทรัลออกจากย่านธุรกิจสู่ชุมชนชานเมือง ด้วยระยะเวลาเช่า 30 ปี ซึ่งเพิ่งสิ้นสุดลง และต่อสัญญาอีก 20 ปี ในปลายปี 2551"

"โครงสร้างธุรกิจ--ภาพของธุรกิจขยายขึ้น จากห้างสรรพสินค้าสู่ศูนย์การค้า มีธุรกิจย่อยในภาพใหญ่ อย่างน้อยสามธุรกิจ อยู่ด้วยกัน เกื้อกูลกัน หนึ่ง-ห้างสรรพค้าในนามเซ็นทรัล สอง-การบริหารจัดการศูนย์การค้า ทั้งเปิดพื้นที่ค้าขายและสำนักงานเช่าให้กับคู่ค้ารายอื่น สาม-ธุรกิจโรงแรม"

"โครงการลาดพร้าว สร้างบริษัทสำคัญขึ้นสองแห่งในปี 2523 ปัจจุบันกลายเป็นกิจการใหญ่ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสะท้อนโครงสร้างการบริหารการเงินใหม่ด้วย-บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา และบริษัทโรงแรมเซ็นทรัล พลาซา บริษัทเกิดขึ้นมาเพื่อบริหารศูนย์การค้าและโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลและตระกูลจิราธิวัฒน์ในเวลานั้น

กระบวนการเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ของทั้งสองบริษัท ต่อมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แผนโครงการระดมของกลุ่มธุรกิจได้มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น" ตัดตอนมาจาก "เซ็นทรัล ลาดพร้าว" มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อสองปีที่แล้ว

หากขยายความโมเดลลาดพร้าวต่ออีก คงมีอีกอย่างน้อย 2 มิติ

หนึ่ง-แนวทางธุรกิจใหม่ว่าด้วยการสร้างโครงการใหญ่ในทำเลทอง ซึ่งเซ็นทรัลไม่สามารถหาซื้อที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ เช่นนั้นได้ สัญญาเช่าที่มีระยะเวลาแน่นอน เพื่อการสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ จึงกลายเป็นต้นแบบของโครงการสำคัญ

ต่อ ๆ มา อาทิ เซ็นทรัลเวิลด์

สอง-กลุ่มเซ็นทรัลได้สร้างสรรค์แบรนด์ "เซ็นทรัล พลาซา" ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกเซ็นทรัล ลาดพร้าว เป็นครั้งแรก เซ็นทรัล พลาซา เป็นโมเดลศูนย์การค้า กำลังขยายออกไปตามชานเมืองและหัวเมืองสำคัญ โดยยึดถือลักษณะธุรกิจว่าด้วยการจัดสรรพื้นที่แบบเซ็นทรัล ลาดพร้าว อย่างเข็มงวด โดยมีห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นหลัก และมีพื้นที่เช่าอีกส่วนหนึ่งสำหรับห้างร้านดังอื่น ๆ และจากนี้ได้พยายามรวมโรงแรมเซ็นทาราเข้าไปด้วย

เซ็นทรัล พลาซา เป็นศูนย์การค้ามีเครือข่ายมากที่สุดของกลุ่มเซ็นทรัล ท่ามกลางแบรนด์อื่น ๆ ที่พยายามสร้างขึ้น ตลาดบนอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว-เซ็นทรัลเฟสติวัล ตลาดตามหัวเมืองชั้นรอง--โรบินสัน และโรบินสัน ไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์

ที่สำคัญความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของกลุ่มเซ็นทรัล มีความเชื่อมโยงกับความคิด จากการติดตามและประเมินการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย โดยเฉพาะจากสถานการณ์ความผันแปรในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะจิราธิวัฒน์รุ่นที่สอง ล้วนผ่านประสบการณ์สำคัญช่วงนั้นมา

ตั้งแต่ยุคเซ็นทรัล ชิดลม ในช่วงอิทธิพลสหรัฐกับสงครามเวียดนาม (2507-2518) แต่การเริ่มต้นอยู่ในสถานการณ์ไม่ราบรื่นจากวิกฤตการณ์ทางการเมือง ที่ผู้คนในสังคมเข้าร่วมมากที่สุดครั้งแรก ๆ ของสังคมไทยในช่วงปี 2516-2517

การเคลื่อนไหวสำคัญที่กระทบต่อกลุ่มเซ็นทรัล คือการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การปลุกกระแสชาตินิยม ลามไปจนถึงต่อต้านสินค้าต่างประเทศทั้งหมด ถือเป็นภาพความขัดแย้งกับการเกิดขึ้นของเซ็นทรัล ชิดลม ในฐานะความพยายามยกระดับห้างในกรุงเทพฯ ในมิติความสัมพันธ์ไลฟ์สไตล์ของสังคมเมือง--เชื่อมกรุงเทพฯเข้ากับเมืองใหญ่ของในโลกตะวันตก เซ็นทรัลไม่กล้าแม้แต่จะติดป้ายห้างเป็นภาษาอังกฤษ

และอีกครั้งในช่วงเซ็นทรัล ลาดพร้าว (2520-2528) สืบเนื่องมาจากความจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพื่อสร้างโครงการใหญ่ เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็สามารถกู้เงินจากธนาคารต่างชาติได้บางส่วน วิกฤตการณ์ครั้งนั้นซ้ำเติมต่อเนื่อง ด้วยการลดค่าเงินบาทถึงสองครั้ง หนี้สินเงินตราต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัลเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์

อีกช่วงในยุคเศรษฐกิจบูม ความพยายามพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจบลงด้วยการเผชิญวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุด (ปี 2540) โดยเฉพาะความพยายามขยายเครือข่ายในต่างจังหวัด

จากการซื้อกิจการห้างโรบินสัน ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าอิสระ มีสาขาอยู่ในจังหวัดใหญ่อยู่บ้างในช่วงปี 2522-2538 แผนการรุกต่างจังหวัดครั้งใหญ่ต่อเนื่อง ปี 2538 โรบินสันเดินแผนซื้อหรือร่วมมือกับเครือข่ายห้างภูธร แผนการนั้นดำเนินได้เพียงสั้น ๆ ต้องเผชิญปัญหาวิกฤตการณ์ในปี 2540 แผนจึงสะดุด และหยุดชะงักอย่างยาวนาน

ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ในเชิงลบ ความผันแปรอย่างมากมายในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่สังคมไทยเดินหน้าไปสู่วิถีชีวิตทันสมัยเสมอ-นี่คือบทสรุปหนึ่ง

เชื่อว่ากลุ่มเซ็นทรัลกำลังมองภาพนี้ ขยายออกไปสู่หัวเมืองอย่างรวดเร็ว และขณะเดียวกันมิเพียงเป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยเท่านั้น หากรวมทั้งภูมิภาค กำลังหลอมรวมกันทั้งเศรษฐกิจ และไลฟ์สไตล์ด้วย

"..เล็งเห็นถึงอนาคตการเติบโตของหัวเมืองหลัก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ จึงได้เตรียมเข้าไปลงทุนพัฒนาศูนย์การค้า..เอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเอื้อประโยชน์ให้การค้าในแถบชายแดนประตูสู่อินโดจีน" (กอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของซีพีเอ็น 29 กุมภาพันธ์ 2555)

ถ้อยแถลงของกลุ่มเซ็นทรัลสะท้อนความเชื่อมั่นในมุมมองกว้าง โดยมองข้ามปัญหาสังคมในบางด้าน

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails