ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจ ค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ... ได้กลายเป็นร่างกฎหมายฉบับประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลาในกระบวนการออกกฎหมายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปีจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผ่านรัฐบาลมาไม่ต่ำกว่า 4 ชุด และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปอีก หลังจากที่ต้องผจญกับปัญหาการเมืองภายในรัฐบาลชุดต่าง ๆ และการ "ล็อบบี้" จากบรรดา "ยักษ์ใหญ่" ของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ถูก "แช่แข็ง" มาเป็นระยะเวลายาวนาน
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ พร้อม ๆ กับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่ถูกเสนอโดยผู้แทนการค้าไทย (TTR-นายเกียรติ สิทธีอมร) โดยคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีมติ "รับหลักการ" ซึ่งก็เหมือนกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในหลาย ๆ รัฐบาลที่ผ่านมา
เนื่องจากมีเงื่อนไขว่ายังมีหลายประเด็นสำคัญที่มีความเห็นแตกต่างกันในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จึงให้กระทรวงพาณิชย์ กับ ผู้แทนการค้าไทย กลับไปหารือร่วมกันในประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ อาทิ คณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง, การกำหนดธุรกิจ ค้าปลีกค้าส่ง และการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิม (ร้านโชห่วย) โดยนายอภิสิทธิ์ได้ตั้งความหวังไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีความคืบหน้าในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ความต่างของร่าง พ.ร.บ.
เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการกลางกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ในร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์เสนอให้มี คณะกรรมการ 2 ชุดด้วยกัน คือ คณะกรรมการกลางว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง กับคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง โดย คณะกรรมการกลางจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการส่วนจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ในขณะที่ร่างฉบับผู้แทนการค้าไทยเสนอให้มี คณะกรรมการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพียงชุดเดียว
ดูเหมือนว่า ร่างฉบับผู้แทนการค้าไทย มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะ "กีดกัน" การเข้ามามี "เอี่ยว" ของบรรดานักการเมืองและผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่ง ทั้งหลาย จนถึงกับระบุว่า ห้ามมิให้ กรรมการ เป็นข้าราชการการเมือง ผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
อย่างไรก็ตาม การแบ่งคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออกเป็น 2 ชุด ในร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์ มีนัยสำคัญอยู่ที่การให้อำนาจคณะกรรมการในส่วนจังหวัดสามารถพิจารณา "ออกใบอนุญาต" การประกอบธุรกิจและการขยายสาขาได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการกลาง ในประเด็นนี้ ร่างฉบับ ผู้แทนการค้าไทยค่อนข้างเป็นห่วงในเรื่องของ "ผลประโยชน์" จึงเสนอให้มีคณะกรรมการตัดสินเพียงชุดเดียวในส่วนกลาง
การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง
นับเป็น "หัวใจ" สำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ทางร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจ จะต้องมี 1) ขนาดพื้นที่ของสถานที่ประกอบการขายสินค้าตั้งแต่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป (ไม่รวมพื้นที่ใช้สอยอย่างอื่นที่ไม่ได้ใช้ในการขายสินค้า อาทิ พื้นที่ให้เช่า-คลังสินค้า-ที่จอดรถ) 2)การมียอดรายได้ หรือประมาณการรายได้ของทุกสาขาใน ปีภาษีที่ผ่านมา หรือ ประมาณรายได้ตามแผนธุรกิจในปีแรกรวมกันตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป และ 3)ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่ผู้ประกอบการให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
ผลของ "นิยาม" ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งฉบับของกระทรวงพาณิชย์ข้างต้น ทำให้สามารถแบ่งประเภทธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่มาก มีพื้นที่ตั้งแต่ 3,000 ตารางเมตรขึ้นไป, ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป, ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดกลางมีพื้นที่ตั้งแต่ 300-999 ตารางเมตรขึ้นไป และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งขนาดเล็กมีพื้นที่ ตั้งแต่ 120-299 ตารางเมตรขึ้นไป
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เข้าเกณฑ์จะต้องขออนุญาตในการประกอบการตามหลักเกณฑ์ที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำหนดก็คือ ธุรกิจขนาดใหญ่มากกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ถ้าธุรกิจขนาดกลางกับขนาดเล็กแม้พื้นที่จะไม่เข้าเกณฑ์ แต่มียอดขายรวมกันในแต่ละสาขามากกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ก็ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจ
ในขณะที่ร่างฉบับผู้แทนการค้าไทย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกณฑ์พื้นที่-รายได้ และประเภทธุรกิจ แต่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกัน ความเป็นธรรม ของผู้ประกอบการสมัยใหม่กับผู้ประกอบการโชห่วยดั้งเดิม ตามเกณฑ์ 2 ประการ คือ 1)สถานที่ตั้ง-ขนาดของพื้นที่-การกระจายตัวของ ผู้ประกอบการเดิม-ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการแข่งขันในพื้นที่ และความหนาแน่นของจำนวนประชากรในพื้นที่ 2)การกำหนดเวลาเปิด-ปิด เวลาทำการของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในกรณีที่พื้นที่นั้น ๆ มีผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอยู่อย่างหนาแน่น
นอกจากนี้ร่างฉบับของผู้แทนการค้าไทยยัง "ไปไกล" ถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง กับผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้า รวมไปถึงการ เปิดทางให้ประชาชนในพื้นที่แสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณากรณีเกิดความ ขัดแย้งอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการประกอบธุรกิจด้วย ซึ่งร่างฉบับกระทรวงพาณิชย์ไม่มีในส่วนนี้
มีข้อน่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งทั้ง 2 ฉบับนั้น ไม่ได้ลงไปในรายละเอียดถึงการกำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการ-เงื่อนไขในการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท รวมถึง หลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต เพียงแต่เขียนไว้อย่างกว้าง ๆ ว่า ให้คำนึงถึงวัฒนธรรม/ประเพณี-สภาพสังคม-วิถีชุมชน-สิ่งแวดล้อม-อัตราความหนาแน่นของประชากร-การทำประชาพิจารณ์ เพื่อเปิดทางให้ออกเป็น "กฎกระทรวง" ต่อไป
No comments:
Post a Comment