คาร์ฟูร์ เป็นชื่อห้างค้าปลีกหลายประเภทชื่อดังของฝรั่งเศส ได้ชื่อว่า มียอดขายอันดับสองของโลกรองลงมาจากวอล-มาร์ทของสหรัฐฯ
ชื่อคาร์ฟูร์ แปลว่า ทางแยก และดูเหมือนว่า ชะตากรรมของบริษัทในขณะนี้ ก็กำลังอยู่ตรงกลางทางแยกพอดี ส่วนจะเดินหน้าหรือถอยหลังนั้น อีกไม่นานก็คงจะได้รู้กัน
ข่าวล่ามาแรงสุดก็คือว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของคาร์ฟูร์ กำลังพิจารณาจะขายทิ้งกิจการไฮเปอร์มาร์เกต ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นตัวทำเงินทั้งยอดขายและกำไรสวยงามในสองประเทศทิ้ง นั่นคือ สาขาทั้งหมดในจีน และบราซิล
คนที่จะมาเจรจาซื้อกิจการต่อไปก็ไม่ใช่คนอื่นไกล ได้แก่ วอล-มาร์ท ของอเมริกานั่นเอง
คาร์ฟูร์เริ่มดำเนินกิจการไฮเปอร์มาร์เกตในจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 หรือ พ.ศ. 2538 และเติบโตอย่างรวดเร็วเป้นต้นแบบของการขยายกิจการในชาติกำลังพัฒนาของบริษัท ปัจจุบัน มีสาขาห้างค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เกตที่จีนถึง 134 แห่ง มากที่สุดในเอเชีย
(เทียบกับ 61 สาขาในอินโดนีเชีย 48 สาขาในไต้หวัน 25 สาขาในไทย และ 12 สาขาในมาเลเซีย)
ส่วนในบราซิล คาร์ฟูร์เข้าไปเริ่มต้นกิจการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 หรือ พ.ศ. 2518 กันเลยทีเดียว และมีรูปแบบค้าปลีกหลากหลาย นับแต่ไฮเปอร์มาร์เกต 150 สาขา ซุปเปอร์มาร์เกต 38 สาขา และ ฮาร์ด ดิสเคาท์ อีก 300 สาขา โดยมีขนาดใกล้เคียงกับอาร์เจนติน่า ซึ่งบริษัทนี้มาส่วนแบ่งตลาดสูงสุด
ความใหญ่โตของตลาดค้าปลีกบริษัทในจีนและบราซิลนั้น หากเทียบเคียงกับในฝรั่งเศส ถือว่า ไม่เบาเลยทีเดียว เพราะที่ฝรั่งเศสนั้น บริษัทมีไฮเปอร์มาร์เกตแค่ 218 สาขา ซุปเปอร์มาร์เกต 1,021 สาขา ฮาร์ด ดิสเคาท์ 897 สาขา แต่มีคอนวีเนียนสไตร์มากถึง 3,245 สาขา และ แคช แอนด์ แครี่ประมาณ 134 สาขา โดยที่ใกล้เคียงกันก็คือสเปนเท่านั้น
การขายทิ้งกิจการในจีน และบราซิล จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาสำหรับบริษัทและคู่แข่งขันเลยทีเดียว
ดูเหมือนว่า วอล-มาร์ทเองซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักในทั้งจีนและบราซิล ก็พร้อมจะทุ่มเงินจ่ายสำหรับซื้อกิจการส่วนนี้อย่างเต้มที่ เพราะจะเป็นการเติบโตทางลัดได้ง่ายมาก
แรงจูงใจเบื้องหลังความพยายามจะขายทิ้งกิจการที่ทำกำไรสูงในจีนและบราวิลของบริษัทอยู่ที่ว่า สองผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทกำลังถังแตก และต้องการเงินคืนจากการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท แล้วขาดทุนหนักจากราคาหุ้นเป็นสำคัญ ความหวังว่าจะขายทิ้งสาขาเพื่อเอาเงินสดเข้ามาสร้างบุ๊กแล้วขายกิจการออกไป จึงเป็นวิศวกรรมการเงินธรรมดาที่เข้าใจกันได้
สองผุ้ถือหุ้นหลักนั้นได้แก่ กลุ่มนักซื้อขายกิจการชื่อ โคโลนี่ แคปิตอล กับ กลุ่มทุนฝรั่งเศสนายแบร์นาร์ด อาร์โนลท์ เจ้าของกิจการสินค้าฟุ่มเฟือย LVMH(หลุยส์ วิตตอง)นั่นเอง
ทั้งสองกลุ่มทุนนี้ ร่วมถือหุ้นในบริษัทลงทุนซื้อขายหุ้นชื่อ Blue Capital แล้วเข้าเก็บซื้อหุ้นเมื่อหลายปีก่อนของคาร์ฟูร์จนได้หุ้นมาครองมากกว่า 13% แต่ได้สิทธิในการลงคะแนนเสียงมากกว่า 20% ทำให้มีอิทธิพลมากในการประชุมผู้ถือหุ้น เพียงแต่กลุ่มนี้ไม่ได้มีสิทธิเข้ามาร่วมในการบริหารกิจการของบริษัท ตามสูตรของตลาดหุ้นตะวันตกที่ให้แยกความเป็นเจ้าของและการจัดการออกจากกันเด็ดขาด
การเข้าถือหุ้นโดยไม่ได้เข้ามาร่วมจัดการ ทำให้เมื่อราคาหุ้นของบริษัทตกอย่างหนักเพราะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจนราคาหุ้นตกไปประมาณ 60% เป็นผลให้คนที่ซื้อหุ้นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะมาจากการกู้เงินมาซื้ออย่างกลุ่มทุนใหญ่ดังกล่าว ต้องการจะถอนทุนออกไป แต่การถอนทุนเฉยๆ จะขาดทุนอย่างหนักแน่นอน เพราะจะยิ่งทำให้ราคาหุ้นย่ำแย่ไปอีก เนื่องจากคนซื้อต้องการกดราคารับซื้อ
วิธีคิดของวิศวกรการเงินอย่างง่ายสุด ก็คือ ก่อนขายทิ้งกิจการออกไป ซึ่งจะทำให้มีเงินสดเข้ามาประมาณ 1.3 หมื่นล้านยูโร ก็ต้องทำให้บุ๊กแวลลูของบริษัทสวยงามขึ้นกว่าปกติ วิธีการง่ายๆคือ ขายสินทรัพย์ที่มีกำไรมากที่สุดออกไป เพื่อที่จะทำให้มีกำไรกะทันหันและบุ๊กสวยงาม แล้วก็ต่อรองซื้อขายหุ้นที่ถือเอาไว้พร้อมกันไป อย่างนี้จะทำให้ขาดทุนน้อยลง
วิธีคิดทางการเงินแบบนี้ ไม่ผิดอย่างแน่นอน เป็นไปตามตำรานักการเงินและหลักสูตรเอ็มบีเอที่สอนๆกันในโลกยามนี้ แต่มันส่งผลกระทต่อยุทธศาสตร์ทางการตลาดอันเป็นธรรมชาติของธุรกิจค้าปลีก เพราะการขายสินทรัพย์ให้คู่แข่งรายสำคัญในตลาด คือ การยอมให้คู่แข่งข่มคอในตลาดเอาได้ง่ายมากขึ้นในอนาคต
ที่ร้ายไปกว่านั้น ทรัพย์สินที่เหลือขาย ก็คือทรัพย์สินที่ทำกำไรได้ต่ำ ซึ่งจะทำให้ในอนาคต ความสามารถทำกำไรของบริษัทจะลดลงฮวบฮาบ และส่งผลต่อราคาหุ้นหลังจากรายใหญ่ทิ้งไปแล้วอย่างรุนแรง
เรื่องนี้ จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา และเมื่อผสมโรงเข้ากับเรื่องอื่นๆ ก็ยิ่งไม่ธรรมดาใหญ่
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลจีน แสดงความไม่พอใจกับความพยายามที่จะขายทรัพย์สินของบริษัทในจีนทิ้งไป เพราะจีนนั้น พยายามเสมอมาเพื่อที่จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของห้างค้าปลีกต่างชาติในจีนมีสมดุลกัน ไม่หนักไปกลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป หากคาร์ฟูร์ขายกิจการในจีนให้วอล-มาร์ทแล้วก็ทำให้ส่วนแบ่งของฝ่ายหลังพุ่งพรวดในจีนอย่างมากเหนือรายอื่น ซึ่งจีนไม่ต้องการ แต่ย้ำว่าหากจะขายทรัพย์สินจริง ควรจะต้องขายให้บริษัทจีนก่อนอื่นใด
เรื่องนี้ ทำให้ฝ่ายบริหารบริษัท รีบออกมาแถลงข่าวว่า ข่าวจะขายทรัพย์สินทิ้งเป็นแค่ข่าวลือที่ไม่มีมูล
เพียงแต่ใครๆที่อยู่ในธุรกิจนี้ ก็รับรู้กันแล้วว่า จากนี้ไปคาร์ฟูร์คงจะต้องถกเถียงถึงอนาคตของตนกันยาวนานทีเดียวในยามที่ทิศทางการลงทุนเริ่มมีคำถามท้าทายในยามเศรษฐกิจผันผวนหาความแน่นอนไม่ได้เหมือนในอดีต
No comments:
Post a Comment