Pages

Friday, September 21, 2012

ฮอท พอท เร่งขยายสาขาลงทุนต่างประเทศ


ฮอท พอท เร่งศึกษาแผนลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หลังประสบความสำเร็จจากการสร้างแบรนด์ในประเทศ คาดอีก 2-3 ปีรู้ผล พร้อมยืนยันยังไม่มีแผนปรับราคาสินค้า หลังต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดปีนี้ยอดขายโต 25-30%

นางสาวสกุณา บ่ายเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟ่ต์แบรนด์ "ฮอท พอท" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแผนลงทุนขยายสาขาไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบวิถีชีวิต โดยเบื้องต้นคาดการณ์จะสามารถสรุปแนวทางการดำเนินแนวทางด้านการตลาดได้ใน 2-3 ปี ภายหลังจากประสบความสำเร็จในการขยายสาขาในประเทศและสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น

ขณะเดียวกันด้านการแข่งขันภายหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีนั้น มองว่าการเปิดเออีซีเป็นผลดีต่อธุรกิจร้านอาหารในเรื่องความหลากหลายของวัตถุดิบ และทางเลือกสำหรับผู้บริโภคก็จริง แต่ในทางตรงกันข้ามในฐานะที่ ฮอท พอท ใช้วัตถุดิบในประเทศภายในร้าน 100% นั้นเชื่อสินค้าทางการเกษตรของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้นยังมีคุณภาพดีกว่าแน่นอน เพราะหากถึงเวลานั้นจริง เชื่อว่าผู้ประกอบการในประเทศจะแข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศต้องศึกษาตลาดเมืองไทย และศึกษาเรื่องโลเกชันพอสมควรก่อนที่จะสามารถเข้ามาทำตลาดได้

ทั้งนี้ฮอท พอท เตรียมกลยุทธ์ด้านการตลาดที่เน้นการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้าน หรือที่เรียกว่า Local Store Marketing ผ่านงบประมาณทั้งสิ้น 3% จากยอดขายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการจัดโปรโมชันพิเศษในช่วงวันพุธ การคืนกำไรให้แก่ลูกค้าในช่วงเทศกาล เป็นต้น โดยจะเริ่มดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวทั่วประเทศในปี 2556

อย่างไรก็ดีในส่วนของการปรับราคาบริษัทยังไม่มีแผนการขึ้นราคาแต่อย่างใด โดยปีที่ผ่านมา ฮอท พอท ปรับราคาขึ้นที่ 7% และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาปรับราคาเฉลี่ยที่ 5-7% ต่อปีอยู่แล้ว ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการปรับราคาขึ้นของฮอท พอท ไม่เพียงในเรื่องต้นทุนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับสภาวะทางการตลาด คู่แข่ง และแนวโน้มในขณะนั้นด้วย

"ราคาสินค้าการเกษตรที่หลายคนกังวลในเรื่องการปรับตัวที่สูงขึ้น มองว่าเป็นเรื่องปกติของสินค้าทางการเกษตรที่ต้องมีช่วงโลว์ซีซันและไฮซีซันที่จะมีการปรับขึ้น-ลง ส่วนในเรื่องต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นนั้นไม่มีผลกระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากกว่า 50% ของสาขาใน กทม.และปริมณฑล พนักงานได้รับรายได้เกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว ส่วนในต่างจังหวัดยืนยันว่าสามารถปรับค่าแรงได้ทันตามกำหนดเวลาแน่นอน"

ด้านผลประกอบการของบริษัท ในปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้น 25-30% หรือราว 1.47 พันล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลจากการขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าการขยายสาขาอยู่ที่ 20 สาขาต่อปี โดยใช้งบลงทุน 6-8 ล้านบาทต่อสาขา โดยปัจจุบันแบรนด์ ฮอท พอท ครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 15-20% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,776  20-22  กันยายน พ.ศ. 2555

'วันชัย จิราธิวัฒน์' ผู้สร้างตำนานเซ็นทรัล


'วันชัย จิราธิวัฒน์' ผู้สร้างตำนานเซ็นทรัล

โครงสร้างธุรกิจของเซ็นทรัล กรุ๊ป ปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในเดือนตุลาคม 2552  โดยนายวันชัย  จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ที่ตัดสินใจแบ่งคณะกรรมการบริหารของบริษัทออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการกำกับการบริหาร Supervisory Board  (SB) นายสุทธิชัย จิราธิวัฒน์ เป็นประธานกรรมการ และชุดที่ 2 คือคณะกรรมการบริหาร CEO Management Board  (CMB)  มีนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ เป็นประธานกรรมการบริหาร พร้อมกับทีมบริหาร ประกอบไปด้วยนายสุทธิลักษณ์ จิราธิวัฒน์ , นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ ,นายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ (และCFO)  ,นายทศ จิราธิวัฒน์  ,นายพิชัย จิราธิวัฒน์ , Mr. Gerd Steeb และนายธีระเดช จิราธิวัฒน์

เป้าหมายของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้มุ่งเน้นขยายการลงทุน  ยุทธศาสตร์  มั่นใจเสริมศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานขององค์กรให้กระชับ  คล่องแคล่ว รวดเร็ว   พร้อมผสานเลือดใหม่ เลือดเก่า  เพื่อสร้าง BRAND   สร้างพันธมิตรและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายวันชัย จิราธิวัฒน์ เป็นหลัก

" กลุ่มเซ็นทรัลต้องการผลักดันให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์   ทั้งยังเป็นผู้บริหารสูงสุดในแต่ละบริษัทต่างๆของกลุ่มเซ็นทรัลให้ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมบริหารกลุ่มเซ็นทรัล อย่างแท้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มเซ็นทรัล" หนึ่งในคำกล่าวของนายวันชัยมีขึ้นในวันนั้น

เส้นทางของเซ็นทรัล กรุ๊ป เดินหน้าต่อไปโดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่โกลบัล แบรนด์เต็มรูปแบบ  ภายใต้การขับเคลื่อนของทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจ  ที่ "วันชัย" ได้วางหมากไว้แล้ว ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซีอาร์ซี) , ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทศูนย์การค้า ภายใต้บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น , ธุรกิจโรงแรม ภายใต้บริษัท โรงแรมเซ็นทารา โฮเทลแอนด์รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ซีเอชอาร์ , ธุรกิจอาหาร ภายใต้บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) และบริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป จำกัด หรือ ซีเอ็มจี ดำเนินธุรกิจเทรดดิ้ง นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่น

วันนี้นายวันชัย จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันเสาร์ที่ 15 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 84 ปี
แต่สำหรับ 65 ปี ที่เขาบุกเบิก ฝ่าฟัน  คือบทพิสูจน์ฝีมือของผู้ชายคนนี้ ผู้เป็นตำนานสร้างห้างเซ็นทรัลจากร้านตึกแถวสู่ห้างชั้นนำของเอเชีย และกำลังจะก้าวสู่การเป็นห้างระดับโลกต่อไป...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,776  20-22  กันยายน พ.ศ. 2555

SUSCO ลุยรีแบรนด์ปั๊มปิโตรนาส


ปตท.เปิดใจสาเหตุไม่เอาปั๊มปิโตรนาส  ระบุส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่าใกล้หมดสัญญา ไม่คุ้ม ได้มาต้องมาเสียค่าต่อสัญญาอีก แถมเป็นปั๊มที่ทับซ้อนของเดิมที่มีอยู่ถึง 40 %  ขณะที่ซัสโก้สรุปการซื้อขายให้แล้วเสร็จสิ้นปีนี้ พร้อมเดินหน้ารีแบรนด์ปั๊มปิโตรนาสต้นปีหน้าใช้เงินอีก 100-200 ล้านบาท ไม่รวมกับปีนี้ที่ต้องปรับปรุงโฉมปั๊มตัวเองอีก 40-50 ล้านบาท
นายชวลิต พันธ์ทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดขายปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่บริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ประกาศขายธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ปิโตรนาส รีเทล(ประเทศไทย) จำกัด ที่มีปั๊มอยู่ราว 100 แห่ง เนื่องจากมองว่าไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน  โดยปตท.เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เข้าร่วมประมูลซื้อกิจการปิโตรนาสครั้งนี้ด้วย
 อย่างไรก็ดีหลังจากพิจารณาในรายละเอียดต่างๆแล้ว พบว่าสถานีบริการน้ำมันปิโตรนาสที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่า ซึ่งหากหมดระยะสัญญาเช่า ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อต่อสัญญาจำนวนมากอีก ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่คุ้มกับการดำเนินงาน  นอกจากนี้พื้นที่สถานีบริการน้ำมันปิโตรนาสยังมีพื้นที่ตั้งทับซ้อนกับสถานีบริการของ ปตท. คิดเป็นประมาณ 40% ด้วย จึงทำให้ปตท.ไม่เสนอราคาแข่งขันกับรายอื่นๆ
"ยอมรับว่าการแข่งขันในธุรกิจน้ำมันนับวันจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้ค้าน้ำมันแต่ละรายจะมีกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้า อาทิ บางจากจับมือกับมินิบิ๊กซี ส่วน ปตท.ก็จับมือกับเซเว่นและจิฟฟี่ ส่วนการตัดสินใจขึ้นอยู่กับผู้บริโภค ซึ่ง ปตท. พยายามทำให้เป็นปั๊มแบบครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น"นายชวลิต กล่าว
ด้านนายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญกับบริษัท ปิโตรนาส รีเทล(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทย่อย คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2556 จะทยอยเปลี่ยนเป็นแบรนด์ซัสโก้ให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 ปี  ที่กระจายอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่คาดว่าจะใช้งบดำเนินการแห่งละ 1-2 ล้านบาท  ส่วนเม็ดเงินที่ซื้อกิจการส่วนหนึ่งมาจากกระแสเงินสดหมุนเวียน และอีกส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการปั๊มน้ำมันของปิโตรนาส สอดคล้องกับธุรกิจของบริษัทที่ยังคงเน้นรายได้จากธุรกิจน้ำมันเป็นหลักมากขึ้น คาดว่าภายหลังจากที่การซื้อขายหุ้นปิโตรนาสเรียบร้อยแล้ว จะทำให้ยอดขายในปี 2556 ของบริษัทเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะเดียวกันซัสโก้อยู่ระหว่างการปรับปรุงโฉมสถานีบริการน้ำมัน เพื่อให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น โดยในปีนี้มีแผนจะทยอยปรับโฉมสถานีบริการน้ำมัน 20-30 แห่ง คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อปี จากนั้นจะทยอยปรับให้ครบ 144 แห่ง ส่วนการเปลี่ยนแบรนด์ปิโตรนาสเป็นซัสโก้ก็จะทยอยปรับตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ดังนั้นจะส่งผลให้สถานีบริการน้ำมันของซัสโก้เพิ่มเป็น 244 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับปริมาณการขายน้ำมันของซัสโก้ แบ่งเป็นน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 60% และกลุ่มเบนซิน 30% ของยอดขายทั้งหมด แต่ภายหลังจากที่ซื้อกิจการปิโตรนาสเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมียอดขายกลุ่มเบนซินเพิ่มเป็น 40% เนื่องจากสถานีบริการส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งจะเน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นรถบ้านมากขึ้น จากปัจจุบันที่เน้นกลุ่มลูกค้ารถบรรทุกขนาดใหญ่
"แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจน้ำมันสูง แต่ก็ยังสามารถขยายตัวได้ แต่ปั๊มแอลพีจีและเอ็นจีวี ซัสโก้ยังชะลอไปก่อน จากปัจจุบันมีปั๊มแอลพีจี 8 แห่ง และปั๊มเอ็นจีวี 10 แห่ง สาเหตุที่ชะลอ เพราะการแทรกแซงของภาครัฐ ทำให้ราคาไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันราคาแอลพีจีภาคขนส่งก็เตรียมขยับขึ้นราคาอีก ส่วนการดำเนินงานธุรกิจนอนออยล์ หรือร้านซูเรียในปั๊มปิโตรนาส เราจะหาพันธมิตรเพื่อเข้ามาบริหารจัดการต่อไป เพราะบริษัทไม่เน้นรายได้ธุรกิจนอนออยล์มากนัก"นายชัยฤทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ปิโตรนาส รีเทล (ประเทศไทย) ได้เข้ามารุกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันในประเทศไทยเมื่อปี 2548 หลังจากชนะการประมูลซื้อกิจการปั๊มน้ำมันคิวเอท ของ คูเวต ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) ที่ได้ถอนการลงทุนออกไป เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทำตลาดค้าปลีกน้ำมันในช่วงนั้นได้ โดยซื้อในราคา 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 2.4 พันล้านบาท จากค่าเงินบาทขณะนั้นอยู่ประมาณ 40-41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,776  20-22  กันยายน พ.ศ. 

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails