"บิ๊กซี" งัดกลยุทธ์เซ็กเมนเตชั่นสู้ศึกค้าปลีก ประกาศเดินหน้าเปิดโมเดลใหม่ "บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า" 15 สาขา ควบคู่ขนทัพสินค้าไพรเวตแบรนด์ "คาสิโน" เสริม โฟกัสอาหารสดคุณภาพสูงมุ่งสร้างความแตกต่าง หวังตรึงลูกค้าคาร์ฟูร์ เผยแผนรุกคืบเตรียมลุย "มินิบิ๊กซี" ปิดช่องว่าง พร้อมเข้มบริการ เน้นรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ โปรโมชั่นหนัก ชนคู่แข่ง
นายประพันธ์ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองประธานผู้บริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังบริษัทเข้าซื้อกิจการห้างคาร์ฟูร์ทั้งหมด 42 สาขา และพบว่าลูกค้าที่เข้าใช้บริการในห้างคาร์ฟูร์ต้องการสินค้าที่แตกต่างจากลูกค้าของห้างบิ๊กซี บริษัทจึงได้พัฒนาโมเดลบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้าขึ้น และจากนี้ไปจะรูปแบบวิธีการในการบริหารจัดการ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า ที่พัฒนาขึ้นใหม่ไปใช้ เบื้องต้นจะมีการปรับสาขาห้างคาร์ฟูร์ซึ่งปรับมาเป็นบิ๊กซีในทำเลที่มีศักยภาพ 15 สาขา เช่น พระราม 4 ลาดพร้าว รัชดาภิเษก รามอินทรา อ่อนนุช ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ สำหรับสาขาที่อยู่ใกล้กันมากจะใช้สินค้าเป็นตัวสร้างความแตกต่าง
ความพิเศษของบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า มี 2 ด้าน ได้แก่ การจำหน่ายสินค้า "คาสิโนแบรนด์" ซึ่งเป็นไพรเวตแบรนด์จากฝรั่งเศส อาทิ ชีส ไส้กรอก แฮม เส้นพาสต้า ช็อกโกแลต คุกกี้ และอื่น ๆ ถึง 300 รายการ ต่อมาคือเรื่องอาหารที่จะมีความสด คุณภาพสูง สั่งตรงจากผู้ผลิตทุกวัน อาทิ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผลไม้สดจากฟาร์ม อาหารออร์แกนิก อาหารต่างชาติ และเบเกอรี่ โดยแบ่งสินค้าเป็นโซนต่าง ๆ 5 โซน ได้แก่ สินค้นำเข้า สินค้าสุขภาพและความงาม อาหารสด มุมเทคโนโลยี และมุมไวน์
"การเปิดโมเดลใหม่ครั้งนี้เป็นเรื่องของกลยุทธ์เซ็กเมนเตชั่น เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น แม้แต่บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า แต่ละสาขาก็มีลูกค้าแตกต่างกันตามพื้นที่ ดังนั้นสินค้าแต่ละสาขาก็จะแตกต่างกัน แต่หลัก ๆ บิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า จะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าในห้างคาร์ฟูร์เดิม"
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้บิ๊กซีมีสาขาในกรุงเทพฯส่วนหนึ่ง และเมื่อมีสาขาของคาร์ฟูร์เข้ามาเสริม ส่งผลให้มีสาขาครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยแผนขยายสาขาปีนี้จะชะลอลงระดับหนึ่ง เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการควบรวมกับคาร์ฟูร์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2553 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีแผนเปิดสาขาใหม่เป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 แห่ง, มาร์เก็ต หรือที่เรียกว่า จูเนียร์ 3 แห่ง, ส่วนแผนการขยายสาขาปีหน้าจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะไซซ์เล็ก หรือมินิบิ๊กซี
ปัจจุบันโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ตของ บิ๊กซี แบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ ไซซ์ใหญ่หรือสแตนดาร์ด ขนาด 8,000 ตารางเมตร ไซซ์กลาง หรือคอมแพ็กต์ 6,000 ตารางเมตร และไซซ์เล็กหรือ มินิคอมแพ็กต์ 4,000 ตารางเมตร ส่วนไซซ์เล็กอย่างมาร์เก็ตจะมีขนาดพื้นที่ประมาณ 1,200 ตารางเมตร
"การขยายสาขาไซซ์ใหญ่ทำได้ลำบาก เนื่องจากเครือข่ายสาขาเก่ามีเยอะแล้ว ตอนนี้กลยุทธ์ของไฮเปอร์มาร์เก็ตก็คือ ถ้ายอดขายสาขาเดิมลดลง ก็จำเป็นต้องลดพื้นที่ขาย ทำตัวให้เล็กลง เปรียบเหมือนการเททรายให้แทรกซึมไปกับก้อนกรวด ใหญ่ ๆ ปีนี้มีแผนเปิดมินิบิ๊กซีให้ครบ 50 สาขา จากที่มีอยู่กว่า 20 สาขา และจะเติมเต็มการบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การทำงานที่รวดเร็วของแคชเชียร์ ราคาที่ถูกต้องแม่นยำ และการทำโปรโมชั่น"
นายประพันธ์กล่าวถึงการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกว่า เป็นธรรมชาติของธุรกิจที่ต้องมีการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจที่ลูกค้ามีทางเลือก บริษัทจึงจำเป็นต้องงัดกลยุทธ์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดี โดยเฉพาะตอนนี้ที่บิ๊กซี ถือว่าเป็น Co-leading ในตลาดค้าปลีก ด้วยจำนวนสาขาที่สูสีกับคู่แข่ง
ด้านปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกช่วงครึ่งปีหลัง นายประพันธ์ แสดงความเห็นว่า เงื่อนไขไม่แตกต่างจากเดิมเพราะบิ๊กซีผ่านทุกอย่างมาหมดแล้ว สามารถตั้งรับได้ถูก แต่หากบรรยากาศเศรษฐกิจไม่ดีก็ต้องมีการปรับตามสภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากที่สินค้าในบิ๊กซีเป็นสินค้ากลุ่มพื้นฐาน จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร
ในส่วนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากส่วนนี้ปีละ 5,000 ล้านบาท และพยายามทำให้ กำไรจากอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีกให้สมดุลกัน เพราะหากค้าปลีกได้รับผลกระทบ อสังหาริมทรัพย์ก็จะเป็นตัวบาลานซ์รายได้ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นคีย์สำคัญของการทำธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต
No comments:
Post a Comment