เป็นย่างก้าวที่มีความชัดเจนมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง สำหรับการใช้เงิน 198 ล้านบาทซื้อโครงการเขาใหญ่ มาร์เก็ต วิลเลจ ที่อำเภอปากช่อง นครราชสีมา จากค่าย Siam Future Development หรือ SF มาดูแลและบริหารจัดการเองทั้งหมด จากเดิมที่มีฐานะเป็นผู้เช่า
เขาใหญ่ มาร์เก็ต วิลเลจ มีขนาดพื้นที่ 9,970 ตร.ม. เป็นรูปแบบของเรสต์แอเรียหรือที่พักริมทาง ที่นอกจากจะรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงซีซันนอลแล้วยังรองรับการพักผ่อนของลูกค้าท้องถิ่นด้วย และเป็นโครงการนำร่องที่SF จะใช้เป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดท่องเที่ยวต่อไป
"วีณา อรัญญเกษม" ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่าและสื่อโฆษณา บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารTesco Lotus เฉลยความเป็นมาในการเข้าซื้อโครงการดังกล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทตัดสินใจซื้อโครงการดังกล่าวเพราะยอดขายของสาขานี้ดีมาก และเป็นสาขาที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมาก หากได้พื้นที่เพิ่มก็จะยิ่งส่งผลดีต่อรายได้
ตามแผนที่วางไว้จะมีการปรับพื้นที่และเพิ่มฟู้ดคอร์ตในเบื้องต้น ส่วนจะบริหารพื้นที่เช่าอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของเฟสต่อไป
"ที่ผ่านมารายได้จากพื้นที่เช่าของTesco Lotus เติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้ และบริษัทยังมีแผนจะพัฒนาและปรับปรุงในส่วนของพื้นที่เช่าต่อไป"
การพัฒนาพื้นที่เช่าดังกล่าว Tesco Lotus จะโฟกัสไปที่สาขาที่มีพื้นที่มาก โดยมีแผนจะรีโนเวตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อพื้นที่ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันพื้นที่ใหม่ ๆ หายาก การขยายสาขาใหม่ ๆ ทำได้น้อยลง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
เดิมทีTesco Lotusอาจจะแบ่งพื้นที่ที่มีอยู่ในบางสาขาให้พันธมิตรเช่าไปบริหาร แต่จากนี้ไปยักษ์ค้าปลีกรายนี้จะหันมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่ในแต่ละสาขามากขึ้น แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่อาจจะไม่เอื้อนัก การรีโนเวตสาขาเพื่อเพิ่มพื้นที่เช่าจึงไม่จำเป็นต้องรีบเร่งนัก และเป็นไปตามแผนที่จะต้องมีการรีโนเวตสาขาทุก 3-5 ปี
นอกจากสาขาที่เป็นโมเดลเต็มรูปแบบที่มีพื้นที่ให้เช่าแล้ว ในช่วงปี 2549-2550 Tesco Lotusก็พยายามเพิ่มน้ำหนักในการเพิ่มรายได้จากการให้เช่าพื้นที่มากขึ้นด้วยการพยายามทดลองปั้นโมเดล "คอมมิวนิตี้มอลล์" ออกมา และทยอยเปิดไปหลายแห่ง เช่น แอทโอเอซิส ถนนสามัคคี นนทบุรี, แอทปาร์ค 5 แห่ง คือ ทาวน์อินทาวน์, รามอินทรา 109, ราไวย์, เจ้าฟ้า และเดอะพาซิโอ อ่อนนุช และแอทการ์เด้น ที่วัดลาดปลาดุก นนทบุรี
ถึงวันนี้ผู้บริหาร Tesco Lotus ยอมรับว่ามีทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จคละกันไป โดยในส่วนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จก็อยู่ระหว่างการหาทางปรับปรุงแก้ไข และยังจะต้องลงทุนลงแรงอีกยกหนึ่ง
ถัดมาเมื่อปลายปี 2551 ยักษ์ค้าปลีกค่ายนี้ได้เริ่มชิมลางกับโมเดล "พลัส ช้อปปิ้ง มอลล์" โดยมีสาขาศรีนครินทร์เป็นตัวนำร่อง ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มพื้นที่เช่า ด้วยการนำพื้นที่จอดรถและพื้นที่ที่เหลืออยู่มาพัฒนาให้ออกดอกออกผลมากขึ้น
และ "พลัส ช้อปปิ้ง มอลล์" ก็เป็นโมเดลที่Tesco Lotusแฮปปี้มาก ๆ และพร้อมจะเดินหน้าเพื่อต่อยอดไปอีกหลาย ๆ สาขาที่มีศักยภาพในแง่ของพื้นที่และความต้องการ ที่เปิดไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือ สาขานิคมอุตสาหกรรมอมตะ
นี่คือยุทธศาสตร์เป็นการผสมระหว่างธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
No comments:
Post a Comment