Pages

Monday, February 22, 2010

SUCESSION PLAN AT CENTRAL

เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะImage by isriya via Flickr

ปลายปีที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างบอร์ดบริหารชุดใหม่ นำทีมโดย "สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์" ทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารและมีกรรมการบริหารร่วมจากตระกูลจิราธิวัฒน์ 6 คน และคนนอกอีก 1คน คือ "ทศ-กอบชัย-พิชัย-ธีระเดช-สุทธิลักษณ์-ปริญญ์ จิราธิวัฒน์" และ "Gerd Steeb"

เป็นการเปลี่ยนถ่ายจากรุ่น 2 สู่รุ่น 3 ของตระกูลที่คุมอาณาจักรแสนล้านแบบครบทีมและเต็มตัว

ภาพของกลุ่มผู้กุมบังเหียนธุรกิจที่เปลี่ยนสู่ทีมคนหนุ่มถูกขยายผลจนเห็นภาพทิศทางใหม่ของเครือ

เซ็นทรัลอย่างแจ่มชัดในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะในงานแถลงนโยบายและการลงทุนประจำปี 2010 ของกลุ่มเซ็นทรัลเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อยักษ์อย่างเซ็นทรัลขยับตัวครั้งใหญ่จึงเป็นที่จับตาของแวดวงธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งจากคู่ค้าที่ทำมาค้าขายกันมา คู่แข่ง นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และอาจรวมถึงผู้บริโภคที่ลูกค้าเซ็นทรัลมาอย่างยาวนาน

ในสายตาภายนอก การถ่ายเลือดใหม่สู่ทีมคนหนุ่มแบบฟูลทีมในครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อกระบวนการทำงานไม่ทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน

เร็วขึ้น? อินเทรนด์ขึ้น? แอ็กเกรสซีฟขึ้น?

"ถ้าพูดกันตรง ๆ ก็คงด้วยเรื่องของวัยและความเหมาะสมของช่วงเวลา เป็น good balance ซึ่งปกติเราก็มีการเปลี่ยนทุก ๆ 7-8 ปีอยู่แล้ว เป็นการเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป" คือคำอธิบายของ ทศ จิราธิวัฒน์ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

"ในแง่โครงสร้างทำงานพื้นฐานคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่รูปแบบการตัดสินใจและขั้นตอนการทำงานจะเร็วขึ้น"

อย่างไรก็ตามบอร์ดชุดใหม่นี้ก็ใช่ว่า จะเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่เสียทั้งหมด เพราะมี 2 คนที่มาจากทีมบริหารชุดก่อน คือ "สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์" ในฐานะหัวหน้าทีมและ "ปริญญ์ จิราธิวัฒน์" ที่ลงมาช่วยกัน

"ทศ" ชี้ว่า เป็นความลงตัวแบบ mix and balance เพราะถ้าทีมงานเต็มไปด้วยผู้บริหารที่อาวุโสการลงทุนและการเติบโตขององค์กรก็จะเป็นแบบระมัดระวังตัวและคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งบางครั้งอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของการแข่งขันตลาดที่ต้องเร็ว-รุก-แรง

แต่ถ้าบอร์ดบริหารมีแต่คนรุ่นใหม่ไฟแรง บางครั้งการตัดสินใจการลงทุน-การแข่งขันก็อาจไม่รอบด้านและประมาทเกินไป

สูตรการทำงานที่จะบาลานซ์ระหว่างคอนเซอร์เวทีฟและแอ็กเกรสซีฟ จึงลงตัวด้วยกติกาที่ว่า การลงทุนแต่ละโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสนอให้บอร์ดซีเนียร์ร่วมพิจารณา ซึ่งปกติแล้วบอร์ดซีเนียร์ ประกอบด้วย "สุทธิชัย-สุทธิเกียรติ-สุทธิชาติ-สุทธิศักดิ์ จิราธิวัฒน์" จะประชุมกันสัปดาห์ละครั้ง ส่วนทีมผู้บริหารใหม่เจอกันบ่อย คุยกันบ่อยอยู่แล้ว ทำให้การเดินเครื่องแต่ละโครงการจะไปได้เร็ว เพราะแต่ละคนจะรู้สไตล์ ทำงานร่วมกันมานาน

แต่บางทีการทำงานจริง ๆ หรืออนุมัติโครงการใหญ่ ๆ ก็สามารถที่จะยืดหยุ่นกันได้ "ทศ" เล่าว่า อย่างกรอบการลงทุนแต่ละโครงการที่วางไว้ว่า 200 ล้านบาทต้องเสนอต่อบอร์ดซีเนียร์นั้น การทำงานสามารถขออนุมัติยกหูผ่านทางโทรศัพท์ได้เลย ไม่ต้องพรีเซนต์รายละเอียดมากนัก แต่ถ้าโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 1 พันล้านบาทขึ้นไปค่อยเรียกประชุมครบทีมและเสนอรายละเอียดผลดี ผลเสียแบบเต็มขั้นตอน

"เพื่อให้การทำงานไปได้เร็วและไม่สะดุด"

ก่อนหน้านี้ "วันชัย จิราธิวัฒน์" ประธานกรรมการ "เซ็นทรัลกรุ๊ป" ระบุในเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ถึงเหตุผลใน การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารธุรกิจ ครั้งใหม่นี้ว่า เพื่อเสริมศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ซึ่งโครงสร้างบริหารแบบใหม่จะมีคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการกำกับการบริหาร Supervisory Board (SB ) ทีมอาวุโสประกอบด้วย "สุทธิชัย-สุทธิเกียรติ-สุทธิชาติ-สุทธิศักดิ์ จิราธิวัฒน์" ซึ่งจะคอยกำกับและดูแลการบริหารธุรกิจของ CEO Management Board (CMB) กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบทอดคุมอาณาจักรนับแสนล้าน เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารครั้งสำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลอีกครั้ง เพื่อผลักดันให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีความรู้ความ สามารถและมีประสบการณ์

"ในฐานะที่เป็นคนหนุ่มที่คุมการบริหารสูงสุดในแต่ละธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลอยู่แล้วนั้น บอร์ดใหม่ครั้งนี้ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมบริหารอย่างแท้จริง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในธุรกิจปัจจุบันและรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของกลุ่มเซ็นทรัล"

โดยบอร์ดบริหารชุดใหม่ได้วางยุทธศาสตร์และแผนการลงทุนขับเคลื่อน "กลุ่มเซ็นทรัล" ด้วยนโยบายธุรกิจระยะยาวเน้นสร้างแบรนด์แข็งแรงและผนึกพันธมิตรการทำธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน

ความท้าทายของการทำงานจึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งให้กับ "กลุ่มเซ็นทรัล" ท่ามกลางการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกควบคู่กับ "ซักเซสเซอร์แพลน" กระบวนการสร้าง เจเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาต่อยอดธุรกิจออกไปอย่างไม่สิ้นสุด

ขณะที่ภารกิจที่รออยู่เบื้องหน้ามีทั้งการลงทุนในและต่างประเทศ

แผนการลงทุนในปีนี้ กลุ่มเซ็นทรัลวางไว้ 16,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โดยมีกลุ่มซีอาร์ซีและซีพีเอ็น เป็น 2 ธุรกิจหลักที่ ขับเคลื่อนการลงทุนในปีนี้ด้วยสัดส่วน 31% และ 56% โดยเป็นการเตรียมลงทุนในโครงการที่ได้ชะลอไป อาทิ โปรเจ็กต์สถานทูตอังกฤษและเซ็นทรัลพลาซ่าพระราม 9 รวมทั้งโครงการใหม่โรบินสันตรังและเชียงราย และเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา บีช-โฮเทล ควบคู่กับการรีโนเวทสาขาเดิมให้ทันสมัยโดยเฉพาะสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่ใช้งบฯ สูงถึง 2,100 ล้านบาท ส่วนโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ มีแนวโน้มว่าคงต้องเลื่อนออกไปยังไม่มีกำหนด

และนโยบายการขยายธุรกิจไปต่างประเทศนั้น "กลุ่มเซ็นทรัล" นำร่องที่ประเทศจีนก่อน โดยจะไปพร้อม ๆ กัน ทั้งในส่วนของเซ็นทรัลรีเทลที่พร้อมเปิด 2 สาขาในปีนี้และปีหน้าที่เมืองหางโจวและเฉิ่นหยาง เช่นเดียวกับเซ็นทรัลพัฒนาที่ได้เริ่มเข้าไปหาพันธมิตรธุรกิจในการลงทุนแล้ว

ด้วยเป้าหมายการเติบโตของกลุ่มเซ็นทรัลในปีนี้ต้องโตมากกว่าจีดีพีประเทศ คือประมาณ 7% หรือรายได้รวม 118,800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ปีที่แล้ว 110,700 ล้านบาท

แต่ถึงแม้การลงทุนจะมีมูลค่าเป็นหมื่นล้านเฉกเช่นทุกปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เท่ากับเป้าหมายการเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยยุทธศาสตร์ M & A (Mergers & Acquistions)

ด้านหนึ่ง M & A หรือ การควบรวมกิจการคือกลยุทธ์ที่กลุ่มธุรกิจที่มีความแข็ง แกร่งทางด้านธุรกิจและการเงินนิยมใช้กัน

ด้านหนึ่ง การควบรวมกิจการดังกล่าว "กลุ่มเซ็นทรัล" คาดหวังว่าจะทำให้อาณาจักรธุรกิจแห่งนี้ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นทั้งการขยายธุรกิจในประเทศและการบุกเปิดตลาดใหม่ ช่องทางใหม่ในต่างประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวต้องซินเนอร์ยี่และผสานประโยชน์ร่วมกัน

เมื่อบวกกับการคลื่อนตัวสู่ตลาด ต่างประเทศเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าวันนี้ประเทศไทยเล็กเกินไปแล้วสำหรับเซ็นทรัล




Reblog this post [with Zemanta]

No comments:

Post a Comment

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails