Pages

Sunday, July 19, 2009

เซเว่นอีเลฟเว่นทุ่มพันล้านผุด 2 ดีซีใหม่

Glass 7 ElevenImage by mexican 2000 via Flickr


เซเว่นอีเลฟเว่นทุ่มพันล้านผุด 2 ดีซีใหม่ เสริมทัพธุรกิจภาคใต้-ภาคอีสานขึ้นเหนือปี53

7-11 ทุ่มพันล้านสร้าง 2 ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ เสริมทัพธุรกิจทั้งภาคใต้ ที่สุราษฎร์ธานี และภาคอีสานที่ขอนแก่น เล็งลงทุนเพิ่มที่ลำปาง หวังสร้างศูนย์ประจำภาคเหนือในปี 53 มั่นใจลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เสริมประสิทธิภาพด้านขนส่ง พร้อมดันสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคทั่วถึงยิ่งขึ้น


นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค (Reginal Distribution Center : RDC) แห่งใหม่ ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 90% โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอุปกรณ์และตกแต่งภายในอาคาร คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยดีซีดังกล่าวจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค ประจำภาคใต้ ครอบคลุมการให้บริการใน 14 จังหวัดภาคใต้





ส่วนการลงทุนศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2553 ซึ่งจะให้บริการส่งสินค้าให้กับร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัด ทดแทนคลังสินค้าในปัจจุบันซึ่งเป็นการเช่า โดยการลงทุนก่อสร้างอาร์ดีซีใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทต่อศูนย์ นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะลงทุนสร้างดีซี แห่งใหม่เพื่อให้ครอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศ ทดแทนการเช่าคลังสินค้า โดยจะลงทุนทั้งในภาคเหนือ คือที่จังหวัดลำปางอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงทุนได้ในปีหน้าเช่นกัน


สำหรับศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะสามารถกระจายสินค้าให้กับร้านเซเว่น ที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ โดยเริ่มตั้งแต่ที่จังหวัดชุมพร รองรับการให้บริการกระจายสินค้าให้กับร้านเซเว่นทั้ง 600 สาขาในปัจจุบัน และมีประสิทธิภาพสามารถให้บริการขนส่งและกระจายสินค้าได้มากกว่า 1,000 สาขา อย่างไรก็ดี การจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าขึ้นในภูมิภาคต่างๆ จะช่วยทำให้ต้นทุนในด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ลดลง อีกทั้งยังรักษาคุณภาพ ความสดใหม่ของอาหาร และทำให้มีสินค้าวางจำหน่ายได้ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ ขณะที่ผู้ผลิตเองก็มีความสะดวกสบายในการจัดส่งสินค้าด้วย


ปัจจุบันเซเว่น ถือเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีความชำนาญในด้านการบริหารจัดการในอันดับต้นของประเทศ โดยมีศูนย์กระจายสินค้าในรูปแบบต่างๆ ทั้ง ศูนย์กระจายสินค้าภูมิภาค (Regional Distribution Center : RDC) ทำหน้าที่กระจายสินค้าทั้งอาหารสด และอาหารแห้ง รวมถึงสินค้าในชีวิตประจำวัน ศูนย์กระจายสินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Chilled Distribution Center : CDC) สำหรับกระจายสินค้าที่ต้องการอุณหภูมิ 18-25 องศา เช่น ช็อกโกแลต นม เนื้อสัตว์ สินค้าปรุงสำเร็จ ปัจจุบันมี 4 แห่ง คือ บางบัวทอง ขอนแก่น เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี


ศูนย์กระจายสินค้าเบเกอรี่ (Bakery Distribution Center : BDC) สำหรับกระจายสินค้าเบเกอรี่ ซึ่งปัจจุบันผลิตอยู่ภายใต้แบรนด์ เลอแปง และยูริ และศูนย์กระจายสินค้าสิ่งพิมพ์ (Publication Distribution Center : PDC) สำหรับกระจายสินค้าประเภทสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร พ็อกเกตบุ๊ก โดยระบบการกระจายสินค้าแต่ละศูนย์จะแตกต่างกันไปตามประเภทของสินค้า เช่น ศูนย์กระจายสินค้าสิ่งพิมพ์ เบเกอรี่ และของสด จะมีการกระจายสินค้าที่อาศัยความรวดเร็ว เพราะเป็นสินค้าที่เชลฟ์ไลต์สั้น ต่างจากสินค้าประเภทอื่นๆ


อย่างไรก็ดี ปัจจุบันศูนย์กระจายสินค้าที่มีอยู่สามารถให้บริการกระจายสินค้าให้กับร้านเซเว่น ได้ 5,200 สาขา ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนสาขาที่มีอยู่ขณะนี้ การลงทุนดีซีใหม่จึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันกับการขยายสาขาที่จะมีมากขึ้นในอนาคต




Reblog this post [with Zemanta]

คีย์ซักเซส...โลตัส "พลัส" อีเวนต์-ยืดหยุ่น-ครบ-โดน

TescoImage via Wikipedia


ความท้าทายของธุรกิจค้าปลีก นอกจากจะต้องแข่งขันกันในเรื่องทำเลและการนำเสนอสินค้าบริการให้โดนใจลูกค้าแล้ว การสร้างโมเดลใหม่ๆ เพื่อรองรับตลาดที่หลากหลาย ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจในภาวะที่ลูกค้าอยากเก็บเงินมากกว่าจับจ่าย

"วีณา อรัญญเกษม" ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่าและสื่อโฆษณา บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส กล่าวถึงโมเดลล่าสุดของเทสโก้ โลตัส ที่มีชื่อว่า "พลัส ช็อปปิ้ง มอลล์" ว่า หลังจากเปิดตัวได้ครึ่งปี พบว่าพลัสฯเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ โดยในส่วนของร้านถาวรมีผู้เช่าเต็มหมด 100% หรือกว่า 140 ร้านค้า

"วีณา" เฉลยเคล็ดลับว่า มีปัจจัยหลักจากการนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าในพื้นที่ต้องการ ชนิดที่เรียกว่า "ครบและโดน" โดย 90% ของผู้เช่าเป็นร้านที่ลูกค้าอยากได้ รวมถึงการอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จอดรถ หรือการวางเลย์เอาต์พื้นที่ให้ลูกค้าสามารถหาสินค้าได้ง่าย และที่ขาดไม่ได้คือความ "อินเทรนด์"





"คำว่าอินเทรนด์ เป็นที่มาให้เราต้องจัดอีเวนต์ทุกเดือน เพื่อตอบสนองกลุ่ม Teenager กับ Young Adult ที่ผ่านมาได้ร่วมเป็นสปอนเซอร์ให้กับวงดนตรีเกาหลี เช่น วันเดอร์สเกิร์ล ทูพีเอ็ม ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี วัดจากกระแสบอกต่อผ่านเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ต"


"วีณา" กล่าวเสริมด้วยว่า การใช้คำว่าอินเทรนด์ สามารถตีความได้กว้างไม่ได้ จำกัดเฉพาะเรื่องความบันเทิง ดนตรี หรือกีฬา แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย


การทำอีเวนต์ของพลัสฯไม่ได้อาศัยความยิ่งใหญ่ แต่ต้องเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้าง แบรนด์ในช่วง 2 ปีแรก ที่มุ่งใช้การจัด อีเวนต์เพื่อให้เกิดการบอกต่อปากต่อปาก


"การทำอีเวนต์เรียกลูกค้า ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการแข่งกับห้างอื่นๆ แต่อยากให้ประชากรในพื้นที่ชื่นชอบแบรนด์พลัสฯให้สอดคล้องกับโพซิชันนิ่งที่ว่าสารพันความสุขใกล้ตัว โดยดีไซน์ให้อีเวนต์แต่ละครั้งตอบสนองกลุ่มเป้าหมายต่างกัน เช่น อีเวนต์สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ และวัยรุ่น"


ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้พลัสศรีนครินทร์สามารถเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าทั้งในกลุ่มเดิมที่เป็นแมสและกลุ่มใหม่ที่อยู่ในระดับบีบวกได้อย่างสบายๆ


ในเร็วๆ นี้พลัสฯยังจะมีสาขาใหม่ๆ ที่เปิดตัวเพิ่มขึ้นอีก


สิ้นเดือนตุลาคมนี้ เทสโก้ฯมีเแผนเปิดพลัส ช็อปปิ้ง มอลล์ อีกแห่ง ที่อมตะนคร จังหวัดชลบุรี มีคอนเซ็ปต์ใกล้เคียงกับที่ศรีนครินทร์ แต่ไซซ์ไม่ใหญ่เท่า บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ว่างเปล่า กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นพนักงานในโรงงาน จำนวนกว่า 90,000 คน รวมถึงกลุ่มที่สัญจรไปมาในละแวกนั้น ใช้เงินลงทุน 400-600 ล้านบาท


แมกเนตสำคัญที่จะดึงคนเข้า ได้แก่ การให้พื้นที่กับกลุ่มอาหาร 50% นอกจากนี้ยังมีโรงหนังเมเจอร์ฯ เอาต์ดอร์พลาซ่า ที่ขายสินค้าแฟชั่น ซึ่งจะแบ่งได้เป็น 5 โซน


"คนในพื้นที่ต้องการสถานที่พักผ่อนอย่างร้านอาหาร สถานบันเทิง แต่ที่ผ่านมาต้องเดินทางไปไกลถึงตัวเมืองชลบุรี เราจึงวางแผนให้พลัสฯ สาขาอมตะนคร เป็นเหมือน town center ที่สามารถตอบสนองความต้องการคนในพื้นที่ได้อย่างถูกจุด"


ปีหน้า บริษัทยังมีแผนเปิดพลัสฯสาขาใหม่ๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องพื้นที่ จากประสบการณ์การเปิดพลัสฯสาขาแรก และการทำวิจัยในพื้นที่แถบอมตะนคร ทำให้พบว่าการทำโมเดลพลัสฯในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการแข่งขันสูง ส่วนพื้นที่ในต่างจังหวัด กำลังซื้อกับทราฟฟิกลูกค้า ก็จะน้อยเกินไป



ปีต่อๆ ไป เทสโก้ฯยังมีแผนรีโนเวตบางสาขา และหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อรุกโมเดลพลัส


เมื่อถามถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ "วีณา" ตอบว่า เศรษฐกิจอย่างนี้ หากทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ก็พอใจแล้ว ที่สำคัญตอนนี้คือการโฟกัสที่ไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นหน้าขายหลักของปี ต้องพยายามช่วยเหลือผู้เช่าให้สามารถค้าขายได้ หรือถ้า ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องหมุนเวียนร้านใหม่ๆ เข้ามา เพราะพื้นที่ 100% เป็นพื้นที่เช่าทั้งหมด จึงสามารถปรับเปลี่ยนได้


ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพื้นที่เช่าและสื่อโฆษณากล่าวในตอนท้ายว่า "การเปิดพลัสฯสาขาใหม่ๆ คงต้องศึกษาบทเรียนจากสาขาเก่าต่อไป อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวยังเชื่อว่าการมีความยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่าโมเดลอื่นๆ"



Reblog this post [with Zemanta]

LinkWithin

Related Posts with Thumbnails